ปคบ. แถลงจับแหล่งขายยาปลอม และยาลดความอ้วนลักลอบจำหน่ายทางโซเชียลฯ
วันที่ 9 เม.ย.64 เวลา 10.00 น . ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) : พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการทลายเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ซึ่งตรวจพบสารไซบูทรามีน กว่า 40,000 แคปซูล และทลายเครือข่ายจำหน่ายยาชุดที่ไม่มีทะเบียนประเภทควบคุมน้ำหนักผ่านเพจเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 เม.ย.64 ตำรวจ (ปคบ.) ร่วมกับ (อย.) บุกจับผู้ต้องหา 8 คน 10 หมายจับ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ต้องหาจะโพสต์ขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก “Nasachon Limprasert” ขายสินค้าอาหารเสริมลดน้ำหนัก BODY FIRMING by nikki อ้างสรรพคุณ กระชับ พุงยุบ ลดทุกสัดส่วนยกเว้น หน้าอก เห็นผลจริงเชิญทดสอบผลใน 7 วัน,เฟซบุ๊ก “Thanachod Black จำหน่ายวิตามินลดน้ำหนักจากคลินิคปลอดภัย 100 % ปลีก-ส่ง จัดส่งทุกวัน” และ เฟชบุ๊ก “ยาลดน้ำหนักคลินิกหมอโชคชัยแท้ 100%” ซึ่งเฟซบุ๊กเหล่านี้มีการขายยาโดยไม่ใด้รับอนุญาต
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาใช้ชื่อ “LalarakkidShop” และ “rakkid shop” ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก ผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ อ้างการันตีของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาบางรายทำงานในโรงพยาบาลแต่ไม่ใช่แพทย์หรือเภสัชกร จึงนำมาใช้แอบอ้างหลอกผู้บริโภคจนมีผู้เสียหายหลงเชื่อจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดเป็นของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี กับผู้กระทำผิดกฎหมายต่อไป
ด้าน ภญ.สุภัทราฯ เผยว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ตรวจพบสารไซบูทรามีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 วันนี้ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท จึงเตือนว่าการขายยา (อย.) ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ แนะผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ยา และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจจะเกิดการแพ้ยาและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Appication “ตรวจเลข (อย.)” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ในข้อหา “ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต” พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต,ขายยาปลอม,โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” และ พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าแถลงข่าวในวันนี้ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมาร่วมแถลงข่าวด้วยแต่ได้แจ้งยกเลิก คาดว่าน่าจะมาจากกรณีที่ได้มีชื่อร่วมรับประทานอาหารที่ร้านข้าว สาขาเพลินจิต เมื่อวันที่ 1 เม.ย.64 ที่ผ่านมา
ส่วนผลการตรวจโควิด-19 พบ ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ.ผลออกมาพบว่าเป็นบวกเพิ่มอีก 1 นาย จากเดิม 1 นายรวมทั้งสิ้น 2 นาย นอกจากนี้ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ที่จะต้องมาแถลงผลการจับกุมยาปลอมและยาลดความอ้วนก็ไม่มา เจ้าหน้าที่ตำรวจลูกน้องใน กก.4 บก.ปคบ.บอกว่าผู้กำกับฯไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงฯ มาเช่นกัน ผลตรวจยังไม่ออก แต่เพื่อความปลอดภัยจึงกักตัว 14 วัน
ฝากเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม หรือเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่มีการจำหน่ายและการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน