นักประดิษฐ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คว้าเหรียญทองแดงจากการประกวดในเวทีนานาชาติงาน “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” จากการนำลวดลายของใบบัวมาออกแบบและพัฒนาเป็นของใช้ตกแต่งบ้าน และเตรียมขยายผลเชิงพาณิชย์แก่ชุมชนทอผ้าในอนาคต
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์ “การออกแบบและพัฒนาชุดของตกแต่งบ้านลวดลายใบบัว” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธ์วดี พยัฆประโคน อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15–17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธ์วดี พยัฆประโคน ผู้ประดิษฐ์เปิดเผยถึงแนวคิดในการนำลวดลายของใบบัวมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบและพัฒนาของใช้ของตกแต่งบ้าน เนื่องมาจากบัวเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งดอกมีรูปทรงสวยงามนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาในพิธีการทางศาสนา ใบบัวนิยมนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร เนื่องจากมีรูปทรงกลมขนาดใหญ่ ลวดลายสวยงาม มีกลิ่นหอมอ่อนและไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ เหมาะสำหรับบรรจุอาหารด้วยเทคนิคการห่อ มัด รัด ร้อย นอกจากนี้ในคติคำสอนบัวมักถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบถึงจิตใจที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ดังนั้น ความงดงามของลวดลายและความหมายที่เป็นสิริมงคลจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นลวดลายของตกแต่งบ้าน ที่ช่วยสะท้อนอัตลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชนสอดแทรกในผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี
จากการศึกษาและนำใบบัวมาทดลองเย็บตะเข็บสร้างลวดลายใบบัวบนผ้า 3 แบบ แบบที่ 1 การตีตะเข็บลวดลายใบบัวจากจุดกึ่งกลาง แบบที่ 2 การตีตะเข็บลวดลายใบบัวจากมุมด้านข้าง และแบบที่ 3 การปะติดใบบัวขนาดเล็กลงบนผ้า จากการทดลองพบว่า การเย็บตะเข็บจะมีลายปรากฏบนผ้า 2 ด้าน คือ ด้านที่เป็นรอยพับ และด้านที่เป็นรอยเย็บ ทั้งสองด้านมีความสวยงาม แต่ด้านที่เป็นรอยพับจะมีมิติและให้ความโดดเด่นและสะดุดตามากกว่าด้านที่มีเฉพาะรอยเย็บ ดังนั้น การเลือกใช้ลายใบบัวด้านที่เป็นรอยพับจึงถึงใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและตัดเย็บ อาทิ ชุดตกแต่งโต๊ะอาหารลายใบบัว, ชุดปลอกหมอนลายใบบัว, ชุดปลอกแก้วน้ำลายใบบัว, กระเป๋าผ้าลายใบบัว และโคมไฟลายใบบัว เป็นต้น
ในอนาคตจะมีการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนทอผ้าพื้นเมือง ในเขตพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีกลุ่มทอผ้าอยู่ทั่วไปภายในชุมชนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน