กระทรวงศึกษาธิการ โดย (กศน.) ผนึกกำลัง8 ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการศึกษาทางไกล
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดบ้านสถาบันการศึกษาทางไกล (สทก.) สำนักงาน (กศน.) และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดการศึกษาทางไกลระหว่าง สำนักงาน (กศน.) และ 8 หน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมี นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศท. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดการศึกษาแบบเข้าชั้นเรียน หรือ Onsite โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายมีข้อจำกัดในการเรียน แต่ด้วยพัฒนาการและศักยภาพของเทคโนโลยีเอื้อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และสามารถเรียนรู้ได้แม้เกิดวิกฤตของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานการศึกษาทางไกล ของ (สทก.) ในสังกัด สำนักงาน (กศน.) สามารถฝ่าวิกฤต สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย ได้ครบทุกมิติ โดยไม่มีข้อจำกัดเชิงพื้นที่และเวลา (Anywhere and Anytime) จึงเป็นที่มาของการเปิดบ้านสถาบันการจัดการศึกษาทางไกลและการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาทางไกล โดยมี นายวรัท พฤกษา ทวีกุล เลขาธิการ (กศน.) ร่วมลงนามกับ 8 ภาคีเครือข่าย คือ
- กรมราชทัณฑ์ (นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องให้กับผู้ต้องขังทั่วประเทศ
- กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่อง ให้กับเด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจทั่วประเทศ และจัดทำหลักสูตรการอบรม เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตร่วมกัน
- กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดี) ให้ความร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับผู้พิการทั่วประเทศ
- กรมพลศึกษา (นายนิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักกีฬาทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษาอังกฤษ ทั้งในและต่างประเทศ และร่วมกันจัดทำรายวิชาเลือกเสรีสำหรับนักกีฬา
- สมาคม EIS แห่งประเทศไทย(นางวันทนาชูช่วย นายกสมาคม) ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลิตสื่อ ให้กับนักศึกษาภาคภาษาอังกฤษ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดี) ให้ความร่วมมือในการเป็นหน่วยจัดอบรม สัมมนา และศูนย์สอบ CFRภาษาอังกฤษ และให้บริการวิชาการ
- องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (นางสาวสิริกร อุดมผล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ) ให้ความร่วมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับบุคลากร ขสมก. และ
- โรงเรียนทิวไผ่งาม (ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้อำนวยการ) ให้ความร่วมมือเป็นหน่วยบริการจัดการศึกษา และร่วมจัดการศึกษาทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
รมช.ศธ.กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ เพื่อสร้างโอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศในทุกระดับและทุกมิติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ในขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งที่สามารถตอบโจทย์การศึกษา ในเรื่องนี้ได้ ก็คือ การจัดการการศึกษาทางไกล ความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาสนับสนุน และขับเคลื่อนการบริหารจัดการ การศึกษาทางไกลให้มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่สะดวก มีคุณภาพและทั่วถึง มีความทันสมัยและตอบโจทย์ Lifestyle ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
การลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร รวมทั้งความเชี่ยวชาญ ความชำนาญจากแต่ละหน่วยงาน มาร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาทางไกล ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป จะเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ ที่จะสะท้อนการทำงานแบบเกื้อกูล ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่และความชำนาญ เชี่ยวชาญ รวมทั้งทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษาทางไกล”
Cr.ปรานี บุญยรัตน์ : ภาพ/ข่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน