“ครูโอ๊ะ” จับมือ “หมอเดว” ร่วมถกสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา เน้นใช้ Home room รับฟังเสียงสะท้อน ชู อาข่าโมเดล หาต้นตอ-แก้ไขภาวะตึงเครียดของ “นักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา ชุมชน” รองรับสถานการณ์โควิด-19 ชง (กศน.) เป็นศูนย์เซ็นเตอร์ หวังเป็นบันไดก้าวแรกปั้นเป็นองค์กรแห่งคุณธรรม
วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 08.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือการจัดระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน (Learning support) ในสถานศึกษา ร่วมกับ นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ,รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน),ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้าร่วม ที่ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือการจัดระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการดูแลลูกหลานนักเรียน นักศึกษา และผู้เรียน ด้วยเทคนิคการสะท้อนคิด (Reflection) โดยใช้ “อาข่าโมเดล” กรณีศึกษาดอยตุง (Home room) เพื่อรับฟังเสียงผู้เรียนของเรา ด้วยคำถาม 3 คำถาม ประกอบด้วย รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไร และทำอย่างไรต่อ ซึ่งมีโรงเรียนที่นำไปใช้จนประสบความสำเร็จ อาทิ โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ และโรงเรียนบ้านตะโกล่าง จ.ราชบุรี เป็นต้น
โดยความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับงานของสำนักงาน (กศน.) ที่กระจายอยู่ในบริบทของชุมชนทั่วประเทศ และการพัฒนาศูนย์ Active center ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำกับนักศึกษาในเรื่องต่างๆ ต่อยอดไปสู่ศูนย์เรียนรู้ My care system เพื่อดูแลและรับฟังนักศึกษา จัดให้มีระบบคัดกรอง ระบบการส่งต่อ ระบบการบริหารจัดการ การพูดคุยและการพัฒนากิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา (กศน.) ที่มิเพียงมุ่งเน้นแต่เรื่องความฉลาดทางด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient :IQ ) เท่านั้น แต่จะมุ้งเน้นในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ด้วย พร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนับสนุนส่งเสริมลงสู่ระดับชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบคุณธรรมจากแนวคิดการสะท้อนคิด จากครอบครัว ชุมชน และสังคมไปพร้อมกัน
“ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องขอขอบคุณ ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง (กศน.) และ (สช.) ที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อน และช่วยกันสร้างสิ่งดีงามให้สังคม พวกเราจะเหนื่อยไปด้วยกัน เพื่อความภาคภูมิใจที่เราสามารถสร้างสิ่งดีงามให้กับประเทศชาติต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โอกาส ในการร่วมแก้วิกฤติให้กลายเป็นโอกาส โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้แต่ผู้ปกครอง ครู และตัวเด็กเอง ก็มีภาวะตึงเครียด ดังนั้น การนำเทคนิคการสะท้อนคิดดังกล่าว ด้วยคำถามเพียง 3 คำถาม ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถปรับใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งครอบครัวและชุมชน
เทคนิคการสะท้อนคิดจาก 3 คำถาม ทำให้เราสามารถถอดรหัสความรู้สึกนึกคิดของเด็ก เป็นกระบวนการลดความตึงเครียดระหว่างกัน เริ่มจากการค้นหาจุดที่มีปัญหา เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสภาวะความตึงเครียด โดยสามารถใช้ในครอบครัว และในสถานศึกษา ด้วยวิธีโฮมรูม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน แทนการให้ข้อมูล และจะทำให้เราได้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การได้รับอารมณ์และความรู้สึกของเด็กทั้งห้อง หรือแม้แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็สามารถใช้คำถามเพื่อรับฟังความคิดของบุตรหลานได้เช่นกัน
โดยในส่วนของความร่วมมือ ศูนย์คุณธรรมฯ มีตัวอย่างโรงเรียนคุณธรรมที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว 2-3 แห่ง อาทิ โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ ที่นำเทคนิคการสะท้อนคิดไปใช้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ ดังนั้น หากสำนักงาน (กศน.) จะนำไปใช้ ก็จะเกิดสู่เป็น ศูนย์เซ็นเตอร์ (Center) ที่สามารถเกื้อกูลกันด้วยความเข้าใจ เชื่อมโยงสู่คนในชุมชนตามบทบาทของ (กศน.) พัฒนาไปสู่ระบบธนาคารจิตอาสา ที่มีระบบบริหารจัดการ การบริการ มีระบบส่งต่อ ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ของครูหรือบุคลากรที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเปิดใจคุยกันระหว่างผู้เรียนและพี่เลี้ยง เมื่อเป็นดังนี้ได้ ก็จะเป็นบันไดก้าวแรก ในการยกระดับเป็น (กศน.) องค์กรแห่งคุณธรรม
“สำหรับที่มาของเทคนิค 3 คำถาม เกิดจากการถอดบทเรียนชาวอาข่า บนดอยตุง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จึงถือว่าเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ ซึ่งยังต้องเรียนรู้ผ่านออนไลน์ อาข่าโมเดลจึงเป็นอีกทางออก ที่จะช่วยลดภาวะความตึงเครียด หรือแม้ว่าจะยังมีความตึงเครียด ก็จะรู้สาเหตุ และใช้ความเป็นจิตอาสาในการแก้ปัญหาให้กันและกันต่อไป” รศ.นพ.สุริยเดวฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน