ดร.สามารถ » “ดร.สามารถ” แจง กก.ตรวจสอบฯ รถไฟทางคู่ ชี้การแก้ทีโออาร์ผิด พ.ร.บ. ฮั้ว

“ดร.สามารถ” แจง กก.ตรวจสอบฯ รถไฟทางคู่ ชี้การแก้ทีโออาร์ผิด พ.ร.บ. ฮั้ว

5 กรกฎาคม 2021
0

“ดร.สามารถ” แจง กก.ตรวจสอบฯ รถไฟทางคู่ ชี้การแก้ทีโออาร์ผิด พ.ร.บ. ฮั้ว

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ที่นายยกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 โดยมีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ดร.สามารถ ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานมีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากันคือแค่ 0.08% เท่านั้น เกิดจากการแก้ทีโออาร์ ไม่นำทีโออาร์การประมูลรถไฟทางคู่สายใต้มาใช้ ซึ่งสายใต้มีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 5.66% ถ้าสายเหนือและสายอีสานสามารถประหยัดได้ 5.66% จะคิดเป็นเงินจำนวนมากถึงกว่า 7,200 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของการรถไฟฯ หน่วยงานเดียวกัน ซึ่งแบ่งการประมูลงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยได้แยกประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา ปรากฏว่าสามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 14.65% คิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 17,353 ล้านบาท

ดร.สามารถ กล่าวว่าการขอเปลี่ยนทีโออาร์ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่เคยแบ่งการประมูลสายเหนือออกเป็นสัญญา 7 สัญญา ประกอบด้วยงานโยธาและระบบราง 6 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา เหลือเพียง 3 สัญญา โดยรวมประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณเข้ากับงานโยธา อาจเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4, 9, 10, 11, และ 12 แห่ง พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาณัติสัญญาณนั้น ดร.สามารถได้เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา กรณีการรถไฟฯ กำหนดให้ผู้รับเหมาเสนอระบบอาณัติสัญญาณได้ไม่เกิน 2 ยี่ห้อ หากผู้รับเหมาเสนอ 2 ยี่ห้อและเขาชนะการประมูล เขาอาจเลือกใช้ยี่ห้อที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งจะทำให้การรถไฟฯ เสียผลประโยชน์หรือไม่? และจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาหรือไม่?

ทั้งนี้ ดร.สามารถ ได้ขอให้คณะกรรมการฯ ไปตรวจสอบว่า การรถไฟฯ เคยประมูลราคารางเหล็ก มีผู้เสนอรายหนึ่งเสนอโรงงานผลิตรางมาหลายโรงงาน ปรากฏว่ามีราคาต่ำสุด ในขณะที่ผู้เสนอรายอื่นทุกรายเสนอมาเพียงโรงงานเดียว จึงร้องเรียนมาที่การรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้สอบถามไปที่กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่าการเสนอราคาหลายโรงงานมาหลายโรงงานเป็นการเสนอแบบ “เผื่อเลือก” ซึ่งไม่สามารถทำได้ ในที่สุดการรถไฟฯ ต้องยกเลิกการประมูลครั้งนั้น ดร.สามารถได้ย้ำให้คณะกรรมการฯ ไปตรวจสอบว่าจริงหรือไม่?


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

error: Content is protected !!