ข่าวใหม่อัพเดท » “วัชระ” ตอกกลับ “พรพิศ” อ้างข้างๆ คูๆ ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง “สรศักดิ์” คุกคามทางเพศ ขร.หญิง ไม่ต้องทำตาม มติครม. อ้างสภาฯ มีอำนาจนิติบัญญัติของตัวเอง

“วัชระ” ตอกกลับ “พรพิศ” อ้างข้างๆ คูๆ ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง “สรศักดิ์” คุกคามทางเพศ ขร.หญิง ไม่ต้องทำตาม มติครม. อ้างสภาฯ มีอำนาจนิติบัญญัติของตัวเอง

1 สิงหาคม 2021
0

“วัชระ” ตอกกลับ “พรพิศ” อ้างข้างๆ คูๆ ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง “สรศักดิ์” คุกคามทางเพศ ขร.หญิง ไม่ต้องทำตาม มติครม.อ้างสภาฯ มีอำนาจนิติบัญญัติของตัวเอง

วันที่ 31 ก.ค.64 : จากกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 16 มี.ค.64 และ 19 เม.ย.64 กรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คุกคามข้าราชการสตรีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวดำเนินการขัดกับมติครม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 

เนื่องจากไม่มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้แทนหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับความคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและการสอบสวนก็ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าฟังการให้ถ้อยคำด้วย ซึ่งต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาฯโดยนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือเมื่อวันที่ 21 ก.ค.64 แจ้งต่อนายวัชระฯ ว่าอดีตอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เห็นว่ามติครม.ดังกล่าวเป็นกฎ หรือนโยบาย ไม่ได้มีสถานะเป็นกฏหมาย จึงเป็นเพียงคำสั่งทางบริหาร ไม่มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานราชการในสังกัดสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศได้แบ่งไว้อย่างชัดเจนคืออำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ล่าสุด นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีหนังสือแจ้งมาที่นายวัชระฯ ว่า ได้ดำเนินการตามที่เคยร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64 ที่ขอให้คุ้มครองและช่วยเหลือข้าราชการสตรีที่ถูกนายสรศักดิ์ฯ คุกคามทางเพศ ขณะเดียวกันทางกรมฯได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯพิจารณาช่วยเหลือข้าราชการสตรีคนดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการให้ทราบภายในวันที่ 13 ส.ค.64 นี้

นายวัชระฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มิถุนายน 2558 และ 21 เมษายน 2563 เรื่องการคุ้มครองข้าราชการหญิงที่ถูกคุกคามทางเพศจากผู้บังคับบัญชาว่าหน่วยงานของรัฐ ทุกแห่งต้องปฏิบัติอย่างไร ให้มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จากองค์กรภายนอกร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย แต่นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ปฏิบัติ ไปอ้างหนังสือของนางสาวอุษณี กังวานจิตต์ อดีตอธิบดีกรมกิจการสตรี กระทรวง พม.ว่า มติครม.ดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการการเมืองอื่นๆซึ่งเป็นการตีความที่บิดเบือนมติครม.หรือไม่ และไม่เป็นการเคารพสิทธิสตรี และไม่ให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการสตรีสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกคุกคามทางเพศ จะมาอ้างว่าประเทศไทยแยกอำนาจบริหารนั้นเป็นเรื่องไม่สมเหตุผล เวลาจะของบประมาณก็ขอมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้คุ้มครองข้าราชการหญิงผู้ถูกคุกคามทางเพศกลับอ้างว่าอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งมติครม.เป็นเรื่องที่ส่วนราชการต้องปฏิบัติ แม้แต่อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 2 คนก็ตีความมติคณะรัฐมนตรีต่างกัน ขอขอบคุณอธิบดีที่เคารพมติคณะรัฐมนตรีและคุ้มครองสิทธิสตรี

ส่วนนางพรพิศฯ ควรลาออกจากการเป็นข้าราชการไปจะดีกว่าหรือไม่ คนที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการควรจะมีธรรมาภิบาล ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมและศีลธรรมให้มากกว่านี้ใช่หรือไม่ อนึ่ง การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการสนับสนุนจากนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ให้ข้อมูลกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนรษฎร ว่า ควรแต่งตั้งนางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อจากตนเอง


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!