ศาลอาญาทุจริตฯสั่งเดินหน้าคดี “วัชระ” ฟ้อง “ชัชวาลย์” ม.137,157 จากมหากาพย์ก่อสร้างอาคารรัฐสภาล่าช้า
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.64 : นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องนายชัชวาลย์ อภิบาลศรี อดีตประธานคณะกรรมาธิการติดตามเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำเลย คดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อท 23/2563 คดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ อท 34/2564 ซึ่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องในความผิดตามป.อาญา ม.137 และ 157 โดยนัดพร้อมที่ห้อง 702 ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 เวลา 09.30 น. ปรากฏว่านายชัชวาลย์ฯ จำเลยได้ส่งผู้รับมอบอำนาจมาขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่ายังหาทนายความไม่ได้ แต่ศาลสั่งไม่ให้เลื่อนคดี และให้พิจารณาตามกำหนดนัด โดยนัดตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานคดีวันจันทร์ที่ 14 ก.ย.64 นัดตรวจสอบพยานหลักฐานของศาล วันที่ 12 ต.ค.64 เวลา 09.30 น. และวันที่ 11 พ.ย.64 เวลา 09.00-16.00 น. นัดไต่สวนมูลฟ้อง 5 ปาก
สำหรับคดีนี้นายชัชวาลย์ อภิบาลศรี อดีตประธานคณะกรรมาธิการติดตามเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ถูกนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตรวจสอบและชี้ข้อพิรุธของโครงการ เป็นเหตุให้นายชัชวาลย์ฯ ไม่พอใจจึงไปฟ้องคดีที่ศาลอาญากับนายวัชระฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งนายวัชระฯ ได้ขอให้นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่นายชัชวาลย์ฯ แจ้งว่า ไม่ประสงค์จะเจรจา ซึ่งมา ทราบภายหลังว่า นายชัชวาลย์ฯ เป็นเพื่อนสนิทกับนายชวนตั้งแต่สมัยเรียน
อนึ่ง นายชัชวาลย์ฯ เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารถึง 6 สมัย กว่า 24 ปี แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุด
ต่อมานายวัชระฯ ได้ฟ้องนายชัชวาลย์ฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.137, 157 จงใจแจ้งความเท็จว่าไม่มีการจดบันทึกการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งแถบเสียง ชวเลข หรือรายงานการประชุมดังกล่าวต่อศาล ตามที่โจทก์ร้องขอเพื่อให้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีดังกล่าว ซึ่งในการแจ้งข้อความเท็จนี้เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามม.137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ” ส่วน ม.157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน