ข่าวใหม่อัพเดท » “รมช.มนัญญา” รุดแก้ปัญหาส่งออกลำไยไปจีน หารือผู้ประกอบการโรงคัดภาคตะวันออก สั่งกรมวิชาการเกษตรคุมเข้มมาตรการส่งออก ไม่ให้เกิดซ้ำ

“รมช.มนัญญา” รุดแก้ปัญหาส่งออกลำไยไปจีน หารือผู้ประกอบการโรงคัดภาคตะวันออก สั่งกรมวิชาการเกษตรคุมเข้มมาตรการส่งออก ไม่ให้เกิดซ้ำ

20 สิงหาคม 2021
0

“รมช.มนัญญา” รุดแก้ปัญหาส่งออกลำไยไปจีน หารือผู้ประกอบการโรงคัดภาคตะวันออก สั่งกรมวิชาการเกษตรคุมเข้มมาตรการส่งออก ไม่ให้เกิดซ้ำ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการส่งออกลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยเป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาด้านผลผลิตทางการเกษตร (ลำไย) พร้อมด้วย นายฤหัส ไชยศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร, นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง, ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ, และตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมประชุม และผ่านระบบ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ว่าจากปัญหาการตรวจพบศัตรูพืช (เพลี้ยแป้ง)ในลำไยผลสดจากไทยที่ส่งออกไปจีน ทำให้สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China Customs: GACC) ได้ระงับการส่งออกชั่วคราวโรงคัดบรรจุ 66 แห่ง เป็นโรงคัดบรรจุในเขตภาคตะวันออก ในจังหวัดจันทบุรี 28 แห่ง และจังหวัดสระแก้ว 1 แห่ง

ทั้งนี้ ทางการจีนขอให้กรมวิชาการเกษตร ระงับการส่งออกชั่วคราวกับโรงคัดบรรจุที่ถูกแจ้งเตือน เพื่อสอบสวนหาสาเหตุ และกําหนดมาตรการควบคุมให้ทางการจีนพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องสําคัญและเร่งด่วน เนื่องจากใกล้ฤดูกาลเก็บเก่ียวลําไยของจังหวัดจันทบุรี ส่งผลกระทบต่อ เกษตรกรชาวสวนลําไยเป็นจํานวนมาก กรมวิชาการเกษตร สํานักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตท่ี 6 นายกสมาคมการค้าและการท่องเท่ียวชายแดนไทย- กัมพูชา จันทบุรี และนายกสมาคมชาวสวนลําไยจันทบุรี ได้ร่วมกันหามาตรการ ป้องกันเสนอให้ทางการจีนพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตรวจพบศัตรูพืชอีก ซึ่งขณะนี้ทางการจีนได้มีการผ่อนผันปลดล็อค ให้สามารถส่งออกได้แล้ว

รมช.มนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเจรจาของกรมวิชาการเกษตรทำให้ฝ่ายจีน อนุญาตให้โรงคัดบรรจุ 50 แห่ง จาก 66 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืชค่อนข้างต่ำสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ และอนุญาตให้โรงคัดบรรจุอีก 6 แห่ง จาก 9 แห่ง ที่ไทยได้ระงับเองเป็นการชั่วคราวเมื่อเดือน มี.ค.2564 มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นไปตามเงื่อนไขที่จีนกำหนด สามารถส่งออกได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งสิ้นมีโรงคัดบรรจุ 56 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีนในครั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2564 สำหรับโรงคัดบรรจุในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก มีจำนวนทั้งสิ้น 93 แห่ง สามารถส่งออกไปจีนได้ จำนวน 88 โรง และยังคงถูกระงับการส่งออกชั่วคราว จำนวน 5 โรง เป็นโรงคัดบรรจุที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรีทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 2564) โดยฝ่ายจีนจะประเมินประสิทธิภาพของมาตรการเฝ้าระวังป้องกันกำจัดศัตรูพืชของฝ่ายไทย ในขั้นตอนกักกันการนำเข้า หากมาตรการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ โรงคัดบรรจุที่เหลือ จำนวน 5 โรง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืชค่อนข้างสูง จึงจะสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้

“โรงคัดบรรจุที่ถูกตรวจพบศัตรูพืชหลายครั้ง จะต้องปรับปรุงแก้ไข ตามท่ีได้รับรายงานจากสํานักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรประจํากรุงปักกิ่ง และเป็นไปตามขั้นตอนที่กรมวิชาการเกษตรได้หารือกับทางการจีน จึงหวังว่าหลังจากน้ี ผู้ประกอบการของไทยจะพัฒนาระบบการส่งออกให้เป็นไปตามที่จีนต้องการในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และขอให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรดําเนินการตามมาตรการที่เสนอไปยังจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตรวจพบศัตรูพืชควบคุมอีก ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ให้ความสําคัญในเรื่องของคุณภาพผลผลิตลําไยที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ก็จะสามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจการค้าลําไยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีความยั่งยืนตลอดไป” รมช.มนัญญา กล่าว

จากนั้น รมช.เกษตรฯ เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการโรงคัดบรรจุ พร้อมรับฟังปัญหาและการบรรยายสรุป ณ บริษัท ไชน่า จิงหว่อหยวน เอ็กพอร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ต.หนองตาคง อ.โป่งร้อน จ.จันทบุรี

สำหรับสถานการณ์การส่งออกลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ในฤดูกาลผลิต ปี 2564/2565 สมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากกว่า 300,000 ตัน สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ลำไย ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก มีจำนวนทั้งสิ้น 93 โรง อยู่ในจังหวัดจันทบุรี 89 โรง จังหวัดสระแก้ว 2 โรง และจังหวัดระยอง 2 โรงทั้งนี้ ภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูกลำไย 379,255 ไร่ เกษตรกรยื่นขอใบรับรอง GAP 336,294 ไร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้ตรวจประเมินแปลง และให้การรับรอง GAP แล้ว 330,662 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 98 ของพื้นที่ ที่เกษตรกรยื่นขอใบรับรอง ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกลำไย 296,640 ไร่ เกษตรกรยื่นขอใบรับรอง GAP 278,542 ไร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้ตรวจประเมินแปลง และให้การรับรอง GAP แล้ว 275,321 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 99 ของพื้นที่ ที่เกษตรกรยื่นขอใบรับรอง


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

error: Content is protected !!