(วช.)-(มทร.กรุงเทพ) ยกระดับท่องเที่ยวเมืองรอง จ.ชุมพร แนะใช้นวัตกรรมสกัดเย็นกาแฟพรีเมียม กระตุ้นบริโภคออนไลน์ ช่วงโควิด-19
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ทำการตลาดผ่านสื่ออิเล็กทรอ นิกส์ ส่งเสริมชุมชนกาแฟโรบัสตาพรีเมียม จ.ชุมพร นำนวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์กาแฟ ตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่วิสาหกิจชุมชนกาแฟ บ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร ยังสามารถแปรรูปและค้าขายกาแฟในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายได้ ด้วยการทำการตลาดแบบออนไลน์ และการมองหาจุดขายที่ตรงกับความต้องการ สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี โดยมองหากลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้บริโภคที่มีความต้องการบริโภคกาแฟพรีเมียม ระหว่างการอยู่บ้านในช่วงโควิด-19
นางสาวชนิดา ป้อมเสน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เล่าว่า เดิมทีที่คณะผู้วิจัยได้รับโจทย์จากนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในขณะนั้น เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยท่านผู้ว่าฯ ให้แนวคิดว่า อยากเห็นการบริโภคสินค้าจังหวัดชุมพรมากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟโรบัสตาชุมพร ที่เป็นสินค้าและพืชเศรษฐกิจของจังหวัด นักท่องเที่ยวที่ผ่านมายังจังหวัดชุมพร ควรได้ลิ้มรสกาแฟคุณภาพดีของเรา ดังนั้น โครงการพัฒนานวัตกรรมกาแฟสกัดเย็นนี้จึงเกิดขึ้น ถือเป็นการยกระดับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ในเขตพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกาแฟ ตำบลถ้ำสิงห์ โดยตั้งใจจะขยายตลาดกาแฟโรบัสตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ผ่านการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประชาสัมพันธ์ และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีกาแฟสกัดเย็น หรือ Cold Brew ที่กำลังเป็นที่นิยม มาปรับใช้ในการส่งเสริมการบริโภค ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์
กาแฟโรบัสตาชุมพร มีกระบวนการเก็บเกี่ยว การคั่ว และการผลิตที่มีคุณภาพแบบพรีเมียม แต่ด้วยปริมาณคาเฟอีนที่สูงกว่ากาแฟอาราบิกา จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากดื่มยากและทำให้รู้สึกใจสั่น ดังนั้น นักวิจัยจึงปรึกษากับคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จนได้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการใช้นวัตกรรมกาแฟสกัดเย็น มาใช้กับกาแฟโรบัสตาแบบสูตรผสม เพื่อให้ได้ปริมาณคาเฟอีนใกล้เคียงกับกาแฟอาราบิกา ดื่มง่ายขึ้น ผ่านการใช้สูตรอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยทดลองใช้ กาแฟ 10 กรัม ต่อน้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร ด้วยกรรมวิธี 2 แบบ คือ แบบสกัดเย็น ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 คืน หรือ 24 ชั่วโมง ให้กาแฟค่อยๆ หยด และแบบสกัดร้อน ที่อุณหภูมิ 240 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที และนำเข้าสู่เครื่องทำความเย็นต่อทันทีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส คุณสมบัติของกาแฟจึงจะดีที่สุด และพัฒนาแพ็กเกจเป็นของฝากที่ชื่อว่า กาแฟโรบัสตาพรีเมียม ที่ชูเรื่องการแปรรูปอย่างใส่ใจ ทั้งวิธีการเก็บ การคัดเมล็ด และอื่นๆ ตลอดไปจนถึงมือของผู้บริโภค
สำหรับช่องทางการสื่อสารการตลาด ได้ทำการสร้าง Platform Online บนเว็บไซต์ vchumphon.com เพื่อกระจายสินค้ากาแฟ และสนับสนุนการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน มีการผลิตสื่อวิดีทัศน์ และ E-book เพื่อสะท้อนกระบวนการผลิตกาแฟโรบัสตาพันธุ์ดี ผู้ประกอบการใส่ใจคัดเลือกเมล็ดที่ดีที่สุด ผ่านกระบวนการอบที่เหมาะสม สู่การผลิตอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน โดยขณะนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟได้เอง และในอนาคต ทีมนักวิจัยยังคงพัฒนา Platform นี้ให้สามารถเลือกซื้อแพ็กเกจการท่องเที่ยวได้อีกเช่นกัน
“นวัตกรรมสกัดเย็นกาแฟนี้ช่วยตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคได้ดื่มกาแฟชุมพรแท้ๆ กระตุ้นให้นึกถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวที่จังหวัดชุมพร อีกทั้ง ด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังมีความสนใจที่จะแปรรูปกาแฟในรูปแบบอื่นๆ มากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังสกัดเย็นที่ทำมาจากกาแฟ รวมถึงภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง วิสาหกิจชุมชนและนักวิจัย จะร่วมกันจัดการสภาพแวดล้อม และเตรียมความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวเชิงกาแฟ เช่น การเที่ยวชมหมอก การเก็บดอกกาแฟ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือนได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย” นางสาวชนิดาฯ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัย ผลงานวิจัย และนวัตกรรมในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อันมีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ โดยการเสริมสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานราก เป็นการกระจายและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สนองต่อนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งยังคงต้องดำเนินการกระตุ้น และสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองรองมากยิ่งขึ้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน