สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” และจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ทิศทางการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 27 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” และจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ทิศทางการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “(วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญ ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และประเด็นยุทธศาสตร์ในเรื่องของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบวิจัยและพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ อย่างมีการบูรณาการร่วมกัน (วช.) และ (ศอ.บต.) จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดูแลและบริหารจัดการ ตามแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (พ.ศ. 2561-2564) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์ความรู้การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ในอันที่จะส่งเสริม สนับสนุนสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการศึกษา วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และถ่ายทอดความรู้การพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีภารกิจและเป้าหมายร่วมกันอย่างสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน”
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในเรื่อง ทิศทางการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน” โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.),ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมเวทีเสวนา
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แต่ยังขาดการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น งานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ทรัพยากรเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในภาคการเกษตร การสร้างเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาอาชีพของคนในพื้นที่ ซึ่งงานวิจัยและนวัตกรรมก็จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “วช. มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับโครงการการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ (วช.) ได้ร่วมกับ (ศอ.บต.) นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ไปทำให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของการสร้างงาน สร้างรายได้ การแก้ไขปัญหาที่จำเป็น เร่งด่วน ให้ท้องถิ่นอย่างบูรณาการร่วมกัน โดยมีองค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นกลไกการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สร้างองค์ความรู้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างอัตลักษณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน”
นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า “(สมช.) มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากความั่นคงด้านการทหารแล้ว (สมช.) ยังดูแลความมั่นคงในด้านอื่น รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย การมีส่วนร่วมระหว่าง (วช.) และ (ศอ.บต.) ในครั้งนี้ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการนำงานวิจัยและนวัตกรรม มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”
รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีภารกิจหลัก คือ การศึกษา รวมทั้งการให้องค์ความรู้ มีการนำผลงานวิจัยลงไปในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ งานวิจัยที่สำคัญจะช่วยพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหารฮาลาล การท่องเที่ยว อัตลักษณ์ หรือวัฒนธรรม ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จะสร้างการพัฒนา ความเจริญเติบโตให้กับท้องถิ่น ทำให้คนในท้องถิ่น กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน