ข่าวใหม่อัพเดท » ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก เข้าชิงแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia Pacific Robot Contest 2021 ระดับอาชีวศึกษา

ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก เข้าชิงแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia Pacific Robot Contest 2021 ระดับอาชีวศึกษา

28 กันยายน 2021
0

นครนายก – ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก เข้าชิงแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia Pacific Robot Contest 2021 ระดับอาชีวศึกษา

ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา (ABU Asia Pacific Robot Contest) รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2564 เพื่อเฟ้นหาแชมป์อาชีวศึกษาเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ (Asia – Pacific Robot Contest 2021 Jimo, Chaina) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ด้วยวิธีการแข่งขันแบบออนไลน์ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก

นายวิวรรธน์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครนายก กล่าวว่า ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 – 3 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1 – 2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จำนวน 9 คน ได้แสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ภายใต้เกมการแข่งขัน “ดวลธนูสะท้านฟ้า ท้าผู้กล้าสู่แดนมังกร (Throwing Arrows into Pots)” ซึ่งมีกติกาการแข่งขันกำหนดให้ แต่ละทีมมีหุ่นยนต์ 2 ตัว ได้แก่ หุ่นยนต์ขว้าง (TR : Throwing Robot) เป็นหุ่นยนต์แบบบังคับด้วยมือหรืออัตโนมัติ ที่สามารถเคลื่อนที่และขว้างลูกธนูลงใน Pot ได้ และหุ่นยนต์ผู้ช่วย (AR : Arrowkid Robot) เป็นหุ่นยนต์แบบบังคับด้วยมือหรืออัตโนมัติ มีหน้าที่ช่วยหุ่นยนต์ TR ในการทำคะแนน เมื่อเริ่มการแข่งขัน หุ่นยนต์ TR จะขว้างหรือปล่อยลูกธนูไปยัง Pot ครั้งละ 1 ดอก จนครบทุก Pot ส่วน AR จะช่วยหยิบลูกธนูที่ตกส่งให้กับหุ่นยนต์ TR ภายในเวลา 3 นาที ส่วนการคิดคะแนนจะคิดเมื่อมีลูกธนูอยู่ใน Pot เดียวของแต่ละจุดทำคะแนน ทีมจะได้ 1 คะแนน แต่หากมีลูกธนูอยู่ใน Pot ทั้งสองของแต่ละจุดทำคะแนนจะเรียกว่า “twining” จะได้ 8 คะแนน ซึ่งคะแนนสูงสุดที่สามารถทำได้คือ 80 คะแนน

ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครนายก กล่าวต่อว่า สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ มีทั้งหมด 3 กติกา ได้แก่ หุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา หุ่นยนต์อาชีวศึกษาบริการทางการแพทย์ และหุ่นยนต์อัตโนมัติอาชีวศึกษาในงานอุตสาหกรรม โดยทีมขุนด่านปราการชล ได้เข้าแข่งขันในกติกา หุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ซึ่งมีทีมหุ่นยนต์สมัครเข้าแข่งขัน 90 ทีม ผ่านการคัดเลือก 6 ทีม เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในระดับประเทศ ได้แก่ ทีมขุนด่านปราการชล วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ทีมองค์รักษ์โรบอท วิทยาลัยการอาชีพองครักษ์ ทีมยูคาลิปตัส วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี ทีมหลานหลวงพ่อคูณ (เสาร์ 5) วิทยาลัยหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ทีมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี และทีมใบตองกุง วิทยาลัยการอาชีพหนองกุงศรี ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ได้สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ได้พัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การเป็นนักประดิษฐ์ คิดค้น และสามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสู่โลกอาชีพในอนาคต

จากผลการแข่งขันในครั้งนี้ทีมขุนด่านปราการชล เป็นแชมป์หุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ปี 2564 ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันในวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน


เนรมิต มงคลกิตติกานต์
ข่าวจังหวัดนครนายก

error: Content is protected !!