สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังประกาศเจตนารมณ์มุ่งยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตั้งเป้าขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ PM 2.5 แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องในภาพรวมของประเทศไทย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและขยายเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 5 หน่วยงาน ร่วมเป็นพยาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาจัดการปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบอย่างสูงต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพของประชาชน รวมถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้เกิดการต่อยอดและขยายผลการนำเอาชุดข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ (วช.) ให้ความสำคัญกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย
การดำเนินงานมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยจะนำข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน โดยมุ่งติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติมในพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มภาคี เพื่อขยายพื้นที่เครือข่ายข้อมูลฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงและแสดงผลบนแพลตฟอร์มที่สามารถดูข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ โดยจะให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
ภายในงานมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมช่วยลดโลกรวน #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อยู่ในแวดวงด้านคุณภาพอากาศและสิ่งแวด ล้อมมาอย่างยาวนาน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM 2.5, ดร.นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (กฟผ.) มาร่วมแชร์ประสบการณ์ พร้อมอัพเดทข้อมูลนวัตกรรม และแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงทิศทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ และรวมพลังในทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม สร้างอากาศบริสุทธิ์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน