“วิลาศ-วัชระ” กระทุ้งเลขาสภาฯ สอบการก่อสร้างห้องทำงานส.ส.-ส.ว.หลังพบมีนับร้อยห้องไม่ตรงสเป๊กตามสัญญา พร้อมจี้ปรับเงินผู้รับเหมาฯที่สร้างอาคารรัฐสภาไม่ทันตามสัญญา
วันที่ 20 ต.ค.64 : นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสีผนังไม้ 11/DF-2 ในห้องทำงาน ส.ว. โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนทั้งจากสมาชิกรัฐสภาบางคนและผู้เกี่ยวข้องว่าการทำสีผนัง 11/DF-2 ห้องทำงาน ส.ว. จำนวน 215 ห้อง ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา อีกทั้งผู้ออกแบบได้ทำการโต้แย้งไว้อย่างชัดเจนแล้ว จึงขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสัญญาโดยเคร่งครัด ดังนี้
- มีการประชุม Work Shop เรื่องสีผนังไม้ห้องทำงานส.ส.และส.ว. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 ผู้ออกแบบได้เห็นชอบแผงไม้ตัวอย่าง
- เมื่อได้รับความเห็นชอบแผงไม้ตัวอย่าง ผู้รับจ้างจะต้องสร้างห้องตัวอย่าง (Mock Up Room) เพื่อให้ผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงานตรวจสอบ ซึ่งผู้รับจ้างแจ้งให้ตรวจสอบในวันที่ 21 พ.ย.62 ในระหว่างสร้างห้องตัวอย่างก่อนตรวจสอบ ผู้รับจ้างก่อสร้างห้องทำงานส.ว. ไปจำนวนมากแล้ว และแม้จะได้รับการทักท้วงจากผู้ออกแบบ แต่ยังมีการก่อสร้างต่อไปอีกรวมแล้ว 215 ห้อง
- ในการประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างครั้งที่ 20/63 วันที่ 25 มิ.ย. 63 ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างอนุมัติห้องทำงานส.ว. จึงขอให้ตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่
- ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบว่าผู้รับจ้างทำถูกต้องตามที่กล่าวอ้างซึ่งตรงข้ามกับผู้ออกแบบหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบ กรณีนี้ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดด้วย
- ขอให้พิจารณาว่าการอนุมัติดังกล่าวจะเป็นสภาประหลาดหรือไม่ เพราะมีห้องทำงานผนังห้องแตกต่างกันอยู่ 215 ห้องจาก 750 ห้อง
- ขณะนี้มีการแก้ไขสัญญาจ้างแล้วใช่หรือไม่ ใช้สัญญาข้อใดในการแก้ไข และเป็นไปตามกฎหมายในเรื่องการแก้ไขสัญญาต้องเป็นประโยชน์ต่อรัฐหรือไม่
เรื่องดังกล่าวนี้ ขอให้พิจารณาเรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการจำนวนเงินวันละ 332,140 บาท (สามแสนสามหมื่นสองพันหนึ่งร้อยสี่สิบบาท) ด้วย
นอกจากนี้ นายวิลาศฯ และนายวัชระฯ ยังได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับ ถึงเลขาธิการสภาฯ เรื่องค่าปรับผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัญญาก่อสร้างเป็นเวลา 900 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.56 สิ้นสุดสัญญา 24 พ.ย.58 และมีการขยายสัญญาไปอีก 4 ครั้งเป็นเวลา 1,864 วัน สิ้นสุดสัญญาที่ขยายวันที่ 31 ธ.ค.63 นับจากวันที่ 1 ม.ค. 64 ตามสัญญาสภาฯ จะต้องเริ่มปรับผู้รับจ้าง แต่เนื่องจากหนังสือเวียนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ลงวันที่ 10 ก.ย.63 และวันที่ 6 ส.ค.64 กรณีลดหรืองดค่าปรับหรือขยายเวลาก่อสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามในสัญญาข้อ 20 เรื่องค่าปรับและค่าเสียหาย นอกจากผู้รับจ้างต้องชำระค่าปรับ ผู้รับจ้างต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ ในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานและบริษัทที่ปรึกษาด้วยเป็นจำนวนวันละ 332,140 บาท (สามแสนสามหมื่นสองพันหนึ่งร้อยสี่สิบบาท) นับจากวันที่กำหนดแล้วเส็จตามสัญญา (31 ธ.ค.63) เห็นว่าจำนวนเงินดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ Covid-19และไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง อีกทั้งหนังสือเวียนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกล่าวเฉพาะเรื่องงดและลดค่าปรับหรือขยายเวลาก่อสร้าง จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้างจะต้องเรียกเงินดังกล่าวมาชำระให้ผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ แม้ว่าผู้ควบคุมงานหรือที่ปรึกษาบริหารโครงการจะสละสิทธิ์ ผู้ว่าจ้างมีความจำเป็นต้องเรียกเงินดังกล่าวเพราะเป็นเหตุให้สภาฯ เสียโอกาสเพื่อนำส่งคลังต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน