ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประมวลข้อมูลแนวทางการจัดการศึกษาในต่างประเทศภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบว่า ต่อจากนี้ไป แต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย จะมีทิศทางในการดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในการส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียน
ข้อมูลจากองค์การ UNESCO เมื่อปี 2563 พบว่าโควิดส่งผลกระทบต่อเด็ก 1,576 ล้านคนหรือคิดเป็น 91.4 % ของเด็กที่ลงทะเบียนเรียนใน 195 ประเทศทั่วโลก ผลกระทบนี้ นอกจากหมายถึงการที่เด็กไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียน ต้องเรียนที่บ้านด้วยระบบออนไลน์ หรือโรงเรียนปิดเรียนเป็นบางช่วงเเล้ว ยังหมายรวมถึง เด็กจำนวนหนึ่งที่อาจต้องออกกลางคัน หลุดออกจากระบบการศึกษาและไม่หวนกลับมาเลยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลกระทบต่อเด็กเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเนื่องจากหลายประเทศมีการปรับตัวและสามารถเริ่มจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ทำให้ในปัจจุบัน จำนวนเด็กที่ประสบปัญหาลดลง เหลือ 1,300 ล้านคน จาก 186 ประเทศ ภาพรวมของการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิดจึงดูเหมือนจะดีขึ้นและ กลับมาเรียนในระบบปกติได้มากขึ้นเป็นลำดับ
มีคำถามว่าการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไป แต่ละประเทศมีทิศทางในการดำเนินการอย่างไร บทความนี้พยายามหาคำตอบโดยประมวลจากข้อมูลขององค์การ UNESCO งานวิจัยจากสภาการศึกษาของประเทศไทย ข่าว และบทความจากเวบไซด์ของ BBC และ VOA รวมทั้งข้อเขียนจากนักวิชาการที่เผยเเพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์อื่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างการจัดการศึกษาที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในการส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับภาคการศึกษาต่อจากนี้ไป
- จีน ถือเป็นประเทศเเรกๆของปัญหาแพร่ระบาด รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานแห่งชาติว่าด้วยการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด ขึ้นโดยมี ผอ.ฝ่ายกีฬา สุขภาพ ของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นนักจิตวิทยาคลินิก คนสำคัญของประเทศเข้ามาดูแล และเป็นผู้นำในการออกแบบระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด ทั้งด้านสุขภาพ การป้องกันโรค กระบวนการจัดการศึกษา ระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น มีหน่วยประสานงานระดับชาติ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นระบบ สนับสนุนผู้ปกครองให้ส่งเสริมการเล่นและการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน มีการประมวลความรู้จากผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญ หากิจกรรมตัวอย่างในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ปกครองกับเด็กได้มากกว่า 3,500 กิจกรรม แล้วนำไปเผยแพร่ให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ ร่วมใช้ทั่วประเทศ มีการจัดระบบสื่อสารระดับโรงเรียนผ่าน WeChat มอบให้เอกชนและ NGO ร่วมกับ Unicef China จัดทำโปรแกรมดูแลเด็กปฐมวัยภายใต้ชื่อ0-6 program of Morning Babies กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน(MIIT) เร่งขยายเครือข่ายบอร์ดแบรนด์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมอัพเกรดอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนประถมและมัธยม โดยบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ 3 รายเข้ามาช่วยวางระบบได้แก่ ไชน่าเทเลคอม ไชน่าโมบาย และไชน่ายูนิคอม จีนตั้งปณิธานอย่างเเน่วเเน่ในการจัดการศึกษาว่า Disrupt Class Undisrupt Learning
- ญี่ปุ่น ให้งบประมาณเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคเช่น น้ำยาฆ่าเชื้อเทอร์โมมิเตอร์ เครื่องระบายอากาศในโรงเรียน ซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติม มีการปรับปรุงที่ว่างในโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและระบายจำนวนเด็ก ให้งบประมาณไปที่โรงเรียนเพื่อจ้างครูผู้ช่วยเพิ่ม เนื่องจากต้องเเบ่งกลุ่มนักเรียนต่อห้อง จ้างบุคลากรด้านสุขภาพอนามัย ด้านจิตวิทยา จัดงบซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่มให้เด็ก ปรับการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบ ไฮบริด คือเน้น ทั้งความรู้วิชาการและทักษะนอกตำรา ออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนมีความสัมพันธ์กันผ่านแอพพลิเคชั่นทางการศึกษา โดยนักเรียนสามารถจับกลุ่มกันทำหนังสือพิมพ์ประจำวันทางออนไลน์ และแข่งขันเกมทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
- เกาหลีใต้ แจกอุปกรณ์ดิจิตอลหรือให้ยืมอุปกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำแพลตฟอร์มให้เด็กเรียนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ไม่คิดค่าอินเตอร์เน็ต มีการทำสื่อหลากหลายภาษาให้กับเด็กเชื้อชาติผสม พัฒนาสื่อออนไลน์เพื่อเด็กพิการ
- อังกฤษ รัฐบาลจัดทำบทเรียน 180 บทเรียนต่อสัปดาห์ให้เด็ก อนุบาล- K 10 เเละได้มอบให้ สถานีโทรทัศน์ และสำนักข่าว BBC รับเผยเเพร่บทเรียนวิชาหลักในรูปของวิดิโอเเละบทความ ทางช่องรายการ BBC Bitesize Daily ต่อเนื่องนาน 14 สัปดาห์ จนถือเป็นการให้บริการทางการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบีบีซี นอกจากนั้นยังได้เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงมาสอนผ่านรายการ อาทิ เซอร์เดวิด แอดเทนเบอระ นักธรรมชาติวิทยา มาสอนภูมิศาสตร์ ศ. ไบรอัน คอกซ์ นักฟิสิกส์ สอนเรื่องเเรงโน้มถ่วงเเละระบบสุริยะ เซอคิโอ อะเกวโร่ นักฟุตบอลทีมเเมนเชสเตอร์ซิตี้ ช่วยสอนภาษาสเปน และเลียม เพย์น นักร้องนำวง วันไดเร็กชั่น สอนดนตรีออนไลน์เป็นต้น นอกจากนี้ อังกฤษ ยังได้จัดงบสนับสนุนจัดกิจกรรมภาคฤดูร้อน (Summer school) และจัดค่ายสำหรับเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อน โดยเเนวคิดนี้ เยอรมัน และแคนาดา ก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน
- ฟินแลนด์ และกลุ่มประเทศสเเกนดิเนเวีย พบว่าการติดเชื้อโควิดในเด็กไม่รุนเเรงเหมือนผู้ใหญ่ จึงเน้นการเปิดโอกาสให้มาเรียนที่โรงเรียน แต่จะสอนในที่ที่กว้างขวาง สอนเฉพาะกลุ่ม รับประทานอาหารเฉพาะกลุ่มของตนเอง จัดห้องเรียนกลางแจ้งโดยเชิญเอ็นจีโอและผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบห้องเรียนและออกแบบกิจกรรมธรรมชาติในลักษณะของโรงเรียนในป่า (Forest School)
- ฝรั่งเศส จ้างครูเพิ่ม เพื่อช่วยสอนเสริมให้เด็กหลังเลิกเรียน
- แคนาดา ดูแลให้คำปรึกษาเด็กโดยสามารถโทรมาคุยกับนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญผ่านสายด่วน Kid Help Phone ซึ่งระบบนี้หลายประเทศก็มีการใช้ด้วย อาทิ อิตาลีและออสเตรเลียเป็นต้น
- สหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ในแต่ละรัฐจะเน้นดูแลเรื่องสุขภาพ เข่นการใส่แมส หรือการฉีดวัคซีน ซึ่งมีความเห็นแย้งและแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการจัดระบบดูแลนักเรียนที่ขาดแคลน โดยซื้ออุปกรณ์ให้เรียนออนไลน์ หรือพยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เด็กกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
- สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือได้มีการวางเเนวทางจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบในทุกมิติ เช่น มอบเงินอุดหนุนสำหรับเด็กซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ คนละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 4,600 บาทโดยเด็กยากจนจะได้เพิ่มอีกเป็นพิเศษ มีการแจกแท็บเลท หรือไอเเพด ภายใต้โครงการ National Digital literacy Program โดยเร่งให้ครบทุกคนภายในปี 2021 จากเดิมที่กำหนดไว้จะครบในอีก 7 ปี จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนคู่กับการเรียนที่บ้าน แบบHome Based learning สลับวันเรียนที่บ้านเเละโรงเรียน ปฏิรูประบบการเรียนรู้ในห้องเรียนให้เน้นสืบเสาะหาความรู้หรือ Inquiry – based Learning ใช้ AI และ VR ช่วยสอน แทนการฝึกปฏิบัติหรือทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ ทั้งระดับประถม มัธยม อาชีวะ และอุดม ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ เช่นการเรียนโค้ดดิ้ง วิทยาการคอมพิวเตอร์ ความรู้เกี่ยวกับการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเด็กทุกคนจะต้องมีอีเเบงค์กิ้งเป็นของตนเอง ในส่วนของวิชาหน้าที่พลเมือง ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อให้รับกับสถานการณ์ระหว่าง และหลังโรคระบาด เพิ่มเนื้อหาการท่องโลกไซเบอร์อย่างปลอดภัย และเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเพื่อให้เด็กสามารถดูแลตนเองได้ อาชีวศึกษามีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาตามสถานการณ์โควิด ส่วนอุดมศึกษาปรับการเรียนให้เป็นสหวิทยาการ โดยมีการนำหลายสาขาวิชามารวมกันหรือเรียนข้ามสาขาได้
- ประเทศไทย แนวทางจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิดมีความเข้มข้นไม่ยิ่งหย่อนกว่าประเทศใด โดยเน้นว่า เด็กจะต้องปลอดภัยและได้ความรู้ โดยการเปิดภาคเรียนเเบบ onsite ได้มีการทดลองนำร่องเปิดสอนในโรงเรียนพักนอน ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 11 กันยายน 2564 ภายใต้โครงการ Sandbox Safety Zone in School โดยความร่วมมือระหว่าง ศธ. และ สธ. (โดยกรมอนามัย) เมื่อเห็นว่าได้ผลดี ก็ได้ทดลองในโรงเรียน ทั้งเเบบพักนอน และไปกลับ ทั้งโรงเรียนปกติและโรงเรียนเด็กพิการ ด้อยโอกาส จากนั้นในภาคเรียนต่อจากนี้ไป จะดำเนินการขยายผลโดยมีวิธีทำงานเป็นสามขั้นตอนคือ
ก่อนเปิดเรียนจะต้องมีการฉีดวัคซีนให้นักเรียนและครู ตามเกณฑ์ที่กำหนด ร่วมกันระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข วางมาตรการดูแลสถานที่และการป้องกันโรคของโรงเรียน รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การดูแลรถรับส่งนักเรียน มีการประเมินความพร้อมของโรงเรียนตามระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+)ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธาณสุข และขออนุญาตเปิดสอนแบบ onsite จาก ศบค.ในแต่จังหวัด
ในการเปิดภาคเรียน หากจัดการเรียนเเบบ on air,on hand , on demand,on line โรงเรียนสามารถจัดได้ทันที แต่กรณีจัดเเบบ on site ต้องได้รับอนุญาตจาก ศบค. จังหวัดก่อน และต้องจัดกิจกรรมต่างๆตามคู่มือแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดจากหน่วยงานต้นสังกัด โดยใช้ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ7 มาตรการเข้มงวด อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้สามารถแบ่งวิธีเรียนแบบ on site ออกได้เป็น 7 แบบ คือ 1) จัดแบบชั้นเรียนปกติ เด็กในโรงเรียนหรือห้องเรียนมีจำนวนน้อย นั่งเเยกห่างๆกัน 2) สลับชั้นมาเรียน เเต่ละชั้น วันเว้นวัน เช่น อนุบาล ประถมต้น มัธยมต้น มาวันจันทร์ ประถมปลายมัธยมปลาย มาวันอังคาร 3) สลับวันคู่วันคี่ อนุบาล ประถมต้น มัธยมต้นมาวันคู่ประถมปลาย มัธยมปลายมาวันคี่ 4) สลับมาเรียน 5 วัน หยุด 9 วัน คือเรียน 1 สัปดาห์พัก 1 สัปดาห์ 5) สลับมาเรียนทุกวัน กลุ่มอนุบาล ประถมต้น มัธยมต้นเรียนเช้า ประถมปลาย มัธยมปลาย เรียนบ่าย 6) แบ่งเด็กในเเต่ละห้องเป็นสองกลุ่มแล้วสลับวันมาเรียน ซึ่งวิธีนี้ครูต้องสอน 2 ครั้ง ควรมีครูผู้ช่วย และ 7) เป็นรูปแบบอื่นๆตามที่เห็นสมควร แต่อย่างไรก็ตามช่วงที่เด็กพักอยู่กับบ้านของทุกรูปแบบ ครูจะมอบหมายงานให้เรียนออนไลน์ด้วย ถือเป็นการเรียน แบบไฮบริด นั่นเอง
สิ่งสำคัญประการสุดท้าย โรงเรียนจะต้องมีแผนเผชิญเหตุกรณีเด็กติดโควิดในบางห้องเรียนหรือบางระดับจะต้องมีการปิดห้องเรียน 3 วัน เเละทำความสะอาด กรณีติดหลายห้อง หรือหลายระดับต้องมีการปิดห้องเรียนมากขึ้น มีการกักตัว และทำความสะอาดโรงเรียน รวมทั้งมีมาตรการเข้มข้นขึ้น กรณีในชุมชนรอบโรงเรียนมีคนติดเชื้อมากหรือในโรงเรียนมีนักเรียนติดเชื้อเป็นจำนวนมากจะต้องปิดโรงเรียนทั้งหมด และดำเนินการเเก้ไขจนปลอดภัยเเล้วจึงเปิดเรียนใหม่ได้
นี่คือกระบวนการดำเนินการเพื่อให้เด็กปลอดภัยและสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานตามที่สังคมคาดหวัง แม้ในอนาคตโควิดอาจหวนกลับมาระบาดมากขึ้นอีก แต่การเตรียมการที่รัดกุมและเข้มข้น น่าจะนำไปสู่การบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษา ยังจะพยายามแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และหากมีความผิดพลาดใดที่อาจเกิดขึ้นก็จะเป็นบทเรียนที่จะนำไปสู่การวางแนวทางแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งโรคระบาดนี้จะหายไปหรือเราสามารถอยู่ร่วมกับโรคนี้อย่างเป็นปกติได้ การใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขก็จะกลับมาสู่สังคมไทยและสังคมโลกอีกครั้ง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน