ข่าวใหม่อัพเดท » “เสมา3” ลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.กระบี่ ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาผู้พิการ-ด้อยโอกาส พร้อมเก็บเกี่ยวปัญหาอุปสรรค

“เสมา3” ลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.กระบี่ ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาผู้พิการ-ด้อยโอกาส พร้อมเก็บเกี่ยวปัญหาอุปสรรค

17 พฤศจิกายน 2021
0

“เสมา3” ลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.กระบี่ ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาผู้พิการ-ด้อยโอกาส พร้อมเก็บเกี่ยวปัญหาอุปสรรค

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาเอกชน รวมทั้งประมวลประเด็นปัญหา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดอันดามัน (กระบี่, ตรัง, พังงา, สตูล, และระนอง) โดยมีคณะผู้บริหาร ศธ. ร่วมลงพื้นที่ อาทิ นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.), นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ.,นายคมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สกศ.และ นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช.

ช่วงเช้า รมช.ศธ. เดินทางไปยังสำนักงาน กศน. จ.กระบี่ เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส โดยกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คณะรัฐมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนประมวลประเด็นปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

สำนักงาน กศน. กำหนดให้มีการขับเคลื่อนงานตามนโยบายการจัดการศึกษาของ ศธ. ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดระนอง เป็นต้นแบบให้กับจังหวัดกระบี่,ตรัง,ภูเก็ต,พังงา และสตูล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้พบกลุ่มเป้าหมายผู้พิการที่มีความต้องการได้รับการศึกษา แต่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากสภาพ ปัญหา อุปสรรคอีกหลายด้านที่ทุกภาคส่วนผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดำเนินการแก้ไข

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ศธ.จะนำฐานข้อมูล “ระนองโมเดล” ไปนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 16 พฤศจิกายน นี้ เพื่อขยายผลต่อไปยังศึกษาธิการภาคทั้ง 18 จังหวัด และใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้พิการในภาพรวมทั้งประเทศต่อไป

ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ซึ่งกำกับดูแลสำนักงาน กศน. นั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมอภิปรายเพื่อพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับหลักการแห่ง (ร่าง) ดังกล่าวแล้ว มีทั้งหมด 31 มาตรา โดยได้ดำเนินการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการตามระบบต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา สร้างโอกาสทางศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป ครอบคุลมไปถึงผู้พิการ กลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส เป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืนสืบไป

“ศธ. ยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และองค์ความรู้ต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 มีศักยภาพในการเข้าร่วมพัฒนาสังคม ตลอดจนประเทศชาติให้ก้าวสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ หรือคงเหลือความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้”

ในช่วงบ่ายได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาโรงเรียนเอกชน ณ โรงเรียนสังข์ทองวิทยา รมช.ศธ. กล่าวในที่ประชุมว่า การลงพื้นที่โรงเรียนเอกชนในครั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหาโรงเรียนเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบโดยเฉพาะ ซึ่งจากที่หลายๆ ท่านได้สะท้อนปัญหาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินอุดหนุนรายบุคคลเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของโรงเรียน,การบรรจุแต่งตั้งบุคลากรกลางภาคเรียน,ขอเพิ่มอัตราค่าจ้างครูสำหรับโรงเรียนที่จัดการศึกษาสามัญควบคู่ศาสนา,โอกาสทางการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนเอกชนนอกระบบในการกู้เงินเรียนวิชาชีพระยะสั้น และผู้บริหาร ผู้สอน โรงเรียนนอกระบบ ขอโอกาสเข้าร่วมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนเพื่อสวัสดิการในอนาคต และอีกหลายๆ ปัญหาที่สะท้อนออกมา

ยืนยันว่าตนจะผนึกกำลังกับเลขาธิการ กช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งดำเนินการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด หรืออย่างน้อยจะแจ้งความคืบหน้าผ่านประธาน ปส.กช.ในพื้นที่เป็นระยะ

ในการนี้ รมช.ศธ.และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ เช่น โรงเรียนสังข์ทองวิทยา จัดแสดงเกี่ยวกับนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง การทำขนมไทย และผลงานด้านวิชาการระดับปฐมวัยของกลุ่มสาระภาษาไทย สังคม สุขศึกษา และพลศึกษา, โรงเรียนอุทยานศึกษากระบี่ จัดแสดงผลงานด้านวิชาการของนักเรียน เรื่อง นวัตกรรมที่เหยียบเจลแอลกอฮอล์,โรงเรียนอนุบาลลำทับ สาธิตกิจกรรมการทำขนมไทย, โรงเรียนโชคชัยกระบี่ จัดแสดงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน Online กับ On-Site และรางวัลเกียรติยศ ผลงานด้านวิชาการของนักเรียน,โรงเรียนอนุบาลเอช้วน การจัดการเรียนรู้ STEM Education การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และการเรียนรู้บนความท้าทาย (CBL-Challenge Based Learning),โรงเรียนฮิดายาตุดดีนนาวงวิทยา พัฒนาวิชาการสานสัมพันธ์ชุมชน,โรงเรียนสันติวิทยา การทำชาชักสร้างอาชีพ และจิตคณิตพาเพลิน,โรงเรียนศาสนูปถัมภ์มูลนิธิ จัดแสดงผลิตภัณฑ์น้ำพริกตะไคร้กระเทียมปลาเสียบ เศรษฐกิจพอเพียง และผลงานกีฬาฟุตบอล,โรงเรียนนอกระบบสอนตัดผมและเสริมสวยเสริมสยาม สาธิตการทำสีผม การถักเปีย และการตัดผมชาย,โรงเรียนนอกระบบด็อกเตอร์หนึ่งอินเตอร์แคร์ กระบี่ สาธิตการทำ CPR วัดความดัน และให้ความรู้เรื่องสุขภาพ,โรงเรียนนอกระบบสมชายสอนขับรถยนต์ ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎจราจร และการขับรถยนต์,โรงเรียนนอกระบบรักเกียรติการดนตรี สาธิตการเล่นเปียโน และการร้องเพลง เป็นต้น

ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเปิดศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย และห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ของ กศน. ณ เทศบาลตำบลเหนือคลอง

รมช.ศธ. กล่าวชื่นชมในการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรม ตามนโยบายจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกช่วงวัยของ กศน. ที่รับผิดดูแลโดย กศน.อำเภอเหนือคลอง ซึ่งตอบโจทย์นโยบาย กศน.WOW อย่างเป็นรูปธรรม โดยประสานความร่วมมือ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย เพื่อขอใช้พื้นที่อาคารสถานที่ และระดมทรัพยากรต่างๆ สำหรับการจัดตั้งและบริหารจัดการให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน โดยได้รับความอนุเคราะห์ด้านอาคารสถานที่จากเทศบาลตำบลเหนือคลอง ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ในการจัดการศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การเสริมสร้างทักษะพัฒนาการวัฒนธรรมรักการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัย แก่ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย กศน. จะเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์กลางการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน มีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี เป็นฐานการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสู่การพัฒนาสังคม และประเทศชาติ เป็นศูนย์กลางในการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีปฏิสัมพันธ์กันของชุมชน สร้างโอกาสทางการศึกษาการเรียนรู้ และพัฒนาเป็นศูนย์บริการที่มีความพร้อมของสื่อวัสดุอุปกรณ์กิจกรรมในรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมทั้งมีความสอดคล้องและเหมาะสมตามความต้องการ ของผู้เรียน ผู้รับบริการ และประชาชนตั้งแต่เด็ก เยาวชน คนรุ่นหนุ่มสาว วัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถศึกษาเรียนรู้ ทำกิจกรรมได้ตามความสนใจความถนัดของตนเอง ทั้งในความรู้ทางด้านวิชาการ การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะด้านอาชีพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับทุกช่วงวัยค่ะ


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!