(วช.) ชวนสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ” ในงาน Thailand Research Expo 2021 นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ฝีมือนักวิจัย (วว.)
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม”Research Expo Talk” เปิดตัวนวัตกรรม “น้ำหอมจากขนแพะ” นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ผลงานของนางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
นางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ไปจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาชุมชน ได้โจทย์ขนแพะที่เป็นขยะเหลือทิ้งและจากการบอกเล่าของ นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ขนแพะโดยปกติถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าคือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล
ทีมนักวิจัยนำขนแพะมาสกัดพบว่า ได้สารสกัดมีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ รวมถึงพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคุณค่ามีคุณสมบัติสูง มีกรดไขมัน (Fatty acid)สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxident) เมื่อนำมาทำน้ำหอมแล้ว นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านเครื่องสำอางและน้ำหอม หากนำมาใช้มากจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสามารถขายได้ ” แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคา แต่ในการวิจัยที่ผ่านมาซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาที่ราคา 1,000 บาท ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัมได้ สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ทำน้ำหอมได้ 3 ขวด ราคาประมาณ 3,000 บาท” ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริม BCG (BCG Economy) ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สูงมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติด้วย และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ใน BCG
นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ มีสารสกัดที่มีการทดสอบฤทธิ์ มีความพร้อมสูงที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับความหอม หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ปล่อยกลิ่นหอมระเหยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศอีก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้.ถือว่า เป็นเจ้าแรกของประเทศและเป็นเจ้าแรกของเอเชียอีกด้วย โดยขณะนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีการพัฒนาแล้วและมีส่วนผสมของแพะที่มีสารฟีโรโมนอยู่ในนั้นด้วย นอกจากใช้ในน้ำหอมแล้ว ยังใช้ในครีม โลชั่น สบู่
ขณะนี้มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาใช้ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้ ยังสามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ ของจังหวัดกระบี่ เป็นต้น
สามารถร่วมสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ”ได้ ในงาน Thailand Research Expo 2021 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ 560 ผลงาน จาก 163 หน่วยงาน และภาคการประชุม/สัมมนาใน 105 หัวข้อเรื่อง และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก โดยจัดระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน