ข่าวใหม่อัพเดท » “นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา” สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์

“นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา” สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์

26 พฤศจิกายน 2021
0

ในปี 2562 ผักตบชวาเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงและเป็นวัสดุเหลือทิ้งเยอะมาก ทีมวิจัยได้ของบประมาณจาก (วช.) สำหรับการดำเนินการในปีแรก ผลิตเป็นเส้นด้ายและผ้าจากผักตบชวาขึ้นมาก่อน พอปี 2563 ได้งบจาก ปตท. สนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนให้ชุมชนได้ใช้ ตอนนั้นมีผ้าแล้ว ก็นำผ้านี้ไปถ่ายทอดให้เขาเพื่อเป็นอีกทางเลือกที่นอกจากผ้าไทยที่เขาจะหาซื้อได้ทั่วไปแล้ว ให้เขาสามารถใช้ผ้าผักตบไปผลิตเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนของเขาได้

ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พูดถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนา “นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา” โดยทีมวิจัยได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีชุมชนต่างๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตพวกเก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา โดยการผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวฯ คอยช่วยดูแล เรื่องของเทคนิคการผลิตที่ไม่เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าทั่วไปการผลิตจะทำในเชิงอุตสาหกรรมโดยมี บริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ เข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้ายขึ้นมา จากนั้นการพัฒนาก็คือจะต่อยอดในเรื่องของการทำสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ชาวบ้านนำรูปแบบไปใช้ นำผ้าไปใช้ แล้วเขาเกิดรายได้ขึ้นมา

นอกเหนือจากที่ต่อยอดให้กับชุมชนแล้ว ยังได้นำความรู้เรื่องการผลิตเส้นด้าย ลงไปสอนให้กับพัฒนาชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตเส้นด้ายได้เอง ผลิตตั้งแต่กระบวนการเส้นใย-เส้นด้าย จนเกิดการสร้างแบรนด์เป็นแบรนด์ผักตบของอยุธยาได้อีกด้วย และมีการจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์แล้วโดย บริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์จำกัด นำเส้นด้ายจากการพัฒนาส่งออกไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ,SMEs และสมาคมของใช้ของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน โดยคุณวิลาสินี ชูรัตน์ นำผ้าไปใช้ในสมาคมฯ OTOP บ้านหัตถศิลป์ และนิกรเครื่องหนัง นำผ้าไปใช้สร้างจุดเด่นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ย้อนไปในปี 2563 นักวิจัยเล่าว่า ขณะนั้นงานวิจัยมีการพัฒนาเรื่อยๆ จากเดิมที่มองว่าผ้าอาจจะมี ผิวสัมผัส ที่ยังไม่ได้ถูกใจผู้บริโภคมากนัก ก็มีการพัฒนาใหม่ โดยการที่ผลิตให้เป็นผักตบชวาเส้นใยละเอียด จากที่เคยใช้เครื่องเป็นแบบเครื่องผลิตทั่วไปสามารถผลิตได้ ถ้าเส้นใยนั้นไม่ได้มีความสะอาดมาก แต่หากอยากจะผลิตให้ต้นทุนต่ำลง ก็ต้องใช้เครื่องที่มีกระบวนการในการเตรียมเรื่องเส้นใยให้มีความสะอาด มีความพร้อมในการจะนำเข้าเครื่อง จึงมีการวิจัยร่วมกัน จนได้เป็นตัวอย่างผ้าออกมา ว่าถ้าเป็นเส้นใยละเอียดเราจะได้เป็นลักษณะผ้าเนื้อไหน และมีตัวอย่างแล้ว โดยสัดส่วนที่ใช้ผสมก็จะมี ผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือไม่ก็จะเป็น ผักตบชวา 20% : ฝ้าย 80% เน้นใช้แค่ 2 ชนิดเส้นใยในการผสม พยายามทำให้ ECO มากที่สุด เพราะอยากทำเส้นใยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งความแตกต่างของผิวสัมผัสระหว่าง 40% ที่ได้คือ จะเป็นผิวสัมผัสแบบจับต้องได้ รู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ กับแบบ 20% ก็คือ ทำให้ผิวมันนุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากอัตราส่วนที่ทีมวิจัยทำได้ 40% ก็ถือเป็นอัตราส่วนที่เยอะที่สุดแล้ว

จากผักตบชวาสด 100 กก. โดยเลือกต้นมีความยาวตั้งแต่ 40-50 ซม.ขึ้นไป เพื่อให้ได้เส้นใยที่เหมาะสมกับการผลิต จะได้เป็นเส้นใยแห้ง (ตากแห้งแล้ว) ประมาณ 5 กก. เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้ง เส้นใยผักตบชวาแห้งกิโลกรัมละ 400 บาท นำผ้าไปใช้สร้างเอกลักษณ์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ต้นทุน 1,400 บาท นำไปจำหน่ายราคาตัวละ 2,400 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,000 บาท/ชุด นอกจากนี้ยังมีการ ผลิตกระเป๋า หมวก หน้ากากอนามัย และรองเท้า (เครื่องประกอบการแต่งกาย) เก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) เป็นต้น

“ตอนนี้เราเปิดกว้างมากใครอยากได้องค์ความรู้แบบไหน อยากได้วิธีการผลิตเส้นใย ต่อให้ไปผลิตเส้นใยอื่น เราก็ถ่ายทอดให้ อย่างอยากได้วิธีการผลิตเส้นใยผักตบชวา เรามีกลุ่มของพัฒนาชุมชนที่อยุธยา เขาก็ขอองค์ความรู้เราไป เราก็ไปสอนยกเครื่องของเราเองไปให้ถึงกลุ่มเลย ว่าทำแบบนี้ ชาวบ้านเขาไปตัดต้นผักตบมาแบบนี้ๆ สอนทุกสิ่งอย่าง สอนแหล่งการผลิตเส้นด้าย สอนให้หาวิธีการหากลุ่มทอผ้า หรือทอโรงงานแบบไหน จนปัจจุบันเขาทำเองได้อย่างเข้มแข็ง พอเข้มแข็งปุ๊บเราก็ปล่อยมือเขา คือแล้วแต่ว่าชุมชนจะขับเคลื่อนไปทางไหน” นักวิจัยกล่าวในที่สุด

สำหรับชุมชนที่สนใจต้องการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โทร.062-351-6396 พบกับ “นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา” และเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021) วันนี้ -26 พฤศจิกายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!