วช. จัดบรรยาย “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 : ความคาดหวังโจทย์วิจัย”
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 : ความคาดหวังโจทย์วิจัย” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โดยได้รับเกียรติจาก นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก TDRI รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมเวทีบรรยาย ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
การบรรยายได้กล่าวถึง ความคาดหวังต่องานวิจัยเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 สำคัญที่ต้องมอง Ecosystem ทั้งระบบ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน การวิจัยเชิงบูรณาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน NGO และภาคประชาชน โดยใช้พื้นที่เป็นหลักที่ต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยเลือกโจทย์วิจัยใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบในวงกว้าง ตอบโจทย์ประเทศ ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2) ก้าวทันพลวัตของโลก 3) คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ 4) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตาม 13 เป้าหมายในอนาคตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้งหมด 13 หมุดหมาย ได้แก่ 1) เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2) การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3) การมองไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก 4) การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5) ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ 6) ศูนย์กลางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 7) SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และแข่งขันได้ 8) พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ 9) ความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม 10) เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11) การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12) ภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน และ 13) กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงจุด
ทั้งนี้ต้องพัฒนาความรู้ควบคู่กับการพัฒนาคน รวมถึงการนำเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ได้โดยการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยงในชีวิตประจำวันและธุรกิจ โดยการพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัว ครอบคลุมการบูรณาการศาสตร์บนฐานคุณธรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน