ข่าวใหม่อัพเดท » แพะภาคใต้มีเฮ วช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา หนุนวิจัยเลี้ยงแพะ ม.อ.เต็มรูปแบบ บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่ รับการเติบโต

แพะภาคใต้มีเฮ วช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา หนุนวิจัยเลี้ยงแพะ ม.อ.เต็มรูปแบบ บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่ รับการเติบโต

24 ธันวาคม 2021
0

วช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา และพัทลุง สนับสนุนแผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ปีที่ 1 (พ.ศ.2563–2564) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุกสร้างมาตรฐาน GMP HALAL เสริมความมั่นคงอาชีพให้เกษตรกร พร้อมบุกเบิกผู้เลี้ยงแพะรายใหม่ในพื้นที่กว่า 200 ราย กระตุ้นบริโภคทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ : ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ พ.ศ.2563–2565 ของคณะนักวิจัย คณะทรัพยากรธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คาดการณ์งานวิจัยสามารถตอบโจทย์ปัญหาการเลี้ยงแพะภาคใต้ได้ ด้วยองค์ความรู้ด้านรูปแบบการจัดการการเลี้ยงแพะ ระบบอาหาร การปรับปรุงและการผสมพันธุ์ รวมทั้ง การจัดการโรคในแพะ “เมลิออยโดสิส” บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200 ราย เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน จากสถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมกระตุ้นการบริโภคแพะในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเร่งขยายประชากรแพะในพื้นที่มากกว่า 2,000 ตัว เพื่อลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่น และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า แพะนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งในศาสนาและวัฒนธรรมของคนในภาคใต้ แต่ปัจจุบันการบริโภคไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไป หลายพื้นที่เปิดรับและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะมากขึ้น งานวิจัยได้สะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมแพะที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ แพะที่เลี้ยงมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดการรับรองคุณภาพ เกษตรกรใช้วิธีการการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ขาดข้อมูลทางการตลาดและการประยุกต์นำผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้ยังมีน้อย อีกทั้งการเผชิญกับโรคที่ติดจากแพะสู่คน คือ โรคเมลิออยโดสิส ขาดพันธุ์แพะพื้นฐานที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงและขยายพันธุ์ กระทบไปยังการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมแพะที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ ยังคงเน้นการส่งเสริมเฉพาะด้านเลี้ยงแพะเพียงอย่างเดียว ไม่ครอบคลุมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแพะภาคใต้

จากปัญหาสำคัญเหล่านี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ให้เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์ และช่วยกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มมากขึ้น ดำเนินการภายใต้ 7 กิจกรรม คือ การสำรวจศักยภาพทางการตลาดและการจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ การสำรวจการเลี้ยงแพะนมและการผลิตนมแพะของเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง การพัฒนานวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม การค้นหาจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี Genototyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์จำเพาะ และปรับปรุงพันธุกรรมแพะพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.” ได้แก่ แพะพื้นเมือง แพงแองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ และทรัพย์ ม.อ.1 การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียมโดยวิธีลาพาโลสโคป เพื่อขยายจำนวนประชากรแพะในพื้นที่อย่างน้อย 2,000 ตัว ช่วยลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่นๆ และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปประเทศเพื่อนบ้านได้ การเตรียมพัฒนาชุดทดสอบเพื่อวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ และการจัดทำห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำนม และการแปรรูปน้ำนม GMP ให้เกษตรกรใช้เป็นตัวอย่างต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ยังสนับสนุนทุนวิจัย โครงการพัฒนาโรงฆ่าแพะฮาลาลต้นแบบเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อแพะคุณภาพดีในภาคใต้ตอนล่าง กิจกรรมและสื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงแพะและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ โดยผลงานที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแพะในภาคใต้ได้ ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้รับความรู้จากโครงการวิจัย ที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านจัดการระบบเลี้ยง ระบบอาหาร เกิดการพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับแพะโดยใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร อันเป็นการลดต้นทุน การปรับปรุงและผสมพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์แพะที่ดี และการจัดการเรื่องโรคในแพะ อีกทั้ง การส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ อาทิ เนื้อแพะ นมแพะ น้ำหอมจากขนแพะ ซึ่ง (วช.) และหน่วยงานมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้ ได้ปักหมุดหมายการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยวิจัยและนวัตกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายทั้งด้านผลผลิต อาทิ องค์ความรู้พร้อมใช้ การสนับสนุนระบบ IT และการสร้างนักวิจัยชุมชน ด้านผลลัพธ์ ในการเกิดต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง หรือ Role Model และด้านผลกระทบ คือ ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับ ผลงานการวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในครั้งนี้ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป

ผศ.ดร.ไชยวรรณฯ ยังเสริมอีกว่า งานวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค และตลาดอุตสาหกรรมแพะ หากสามารถสร้างและส่งต่อนวัตกรรมได้ จะเกิดการสะพัด และลดการกระจุกตัวของรายได้ในภูมิภาค เป็นการขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในอาชีพ ผ่านการสร้างเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะรายใหม่ไม่น้อยกว่า 200 ราย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแพะที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วช.) กล่าวเสริมว่า ในภาพรวมของสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ ตามมติคณะรัฐบาล ชี้ให้เห็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ปูม้า จิ้งหรีด ปลาสวยงาม ไก่พื้นเมืองและลูกผสม และแพะ (วช.) ได้รับภารกิจเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะมูลค่าสูงให้มีมากขึ้น โดยแผนงาน พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ ของ ม.อ.ในครั้งนี้ ได้ดำเนินงานให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ วช.มองว่าจะเกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ให้เกิดจำนวนแพะเพิ่มขึ้นกว่า 400,000ตัว คิดเป็น 40% ในภาคใต้ โดยเกษตรกรกว่า 75%ของประเทศอยู่ที่ภาคใต้ ตั้งเป้าการสร้างมูลค่าการซื้อขายให้ได้ราว 900,000ล้านบาท และให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้กว่า 5,000 ราย

แพะถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือก หรือ alternative livestock ที่สำคัญของเกษตรกร เพราะแพะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและศาสนาของคนในภาคใต้ ที่สำคัญ คือ การบริโภคผลผลิตจากแพะของภาคใต้ในปัจจุบันยังไม่ได้อยู่เฉพาะในกลุ่มประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไป แต่ได้ขยายออกไปสู่ผู้บริโภคที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามด้วย ทำให้ปริมาณแพะที่เลี้ยงไม่เพียงพอ และไม่สามารถรองรับความต้องการด้านคุณภาพได้

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงความรู้และเทคโนโลยีในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มีผลทำให้ความรู้และทัศนคติที่มีต่อแพะของผู้เลี้ยงและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการบริโภคแพะไม่ได้จำกัดอยู่กับชุมชนมุสลิมดังเช่นเป็นมาในอดีต แต่การบริโภคแพะปรากฎในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคเชื้อสายจีน แต่ปัญหาของการผลิตแพะในภาคใต้ คือ รูปแบบการเลี้ยงส่วนใหญ่ยังคงล้าหลัง ขาดข้อมูลด้านการตลาดและความต้องการของผู้บริโภค มีการนำเอาผลพลอยได้ทางการเกษตรในพื้นที่มาใช้น้อย เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องโรคที่ติดจากแพะสู่คน โดยเฉพาะโรคเมลิออยโดสิส ซึ่งพบกระจายอยู่ในทุกจังหวัดในภาคใต้และก่อให้เกิดการตายของแพะรวมทั้งยังสามารถติดไปยังผู้เลี้ยง ขาดการนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงและการขยายพันธุ์ ขาดพันธุ์พื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย รูปแบบการแปรรูปน้ำนมแพะยังไม่ได้มาตรฐานที่ดีพอ และขาดตัวอย่างสำหรับนำไปประยุกต์ รวมทั้งงานด้านการส่งเสริมที่ดำเนินการอยู่ทั้งโดยสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ยังดำเนินการไปไม่สุดทาง คือ เน้นการส่งเสริมเฉพาะด้านการเลี้ยงแพะ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ภาคใต้และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะให้เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์ และให้มีการบริโภคแพะและผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มขึ้น ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนาและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ.2563-2564 โดยมีกิจกรรมวิจัยทั้งหมด 7 กิจกรรมย่อย เป็นเงิน 6,557,000 บาท ดังนี้

กิจกรรมย่อยที่ 1 : ศักยภาพทางการตลาดและการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ ได้แก่ ทดสอบแบบสอบถาม และลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ

กิจกรรมย่อยที่ 2 : การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะ ของเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จัดทำแบบสอบถาม ทดสอบแบบสอบถาม และลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนม

กิจกรรมย่อยที่ 3 : นวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทางการเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ ได้แก่ ทดสอบคุณค่าทางโภชนะของวัตถุดิบอาหารสัตว์ และทดสอบการย่อยได้ของแพะ

กิจกรรมย่อยที่ 4 : การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะ และ ปรับปรุงพันธุกรรมของแพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.” ได้แก่ การเจาะเลือดแพะพื้นเมือง แพะแองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ แพะทรัพย์-ม.อ.1 เพื่อศึกษาเครื่องหมายทางพันธุกรรม

กิจกรรมย่อยที่ 5 : แนวทางการใช้เทคโนโยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะ ได้แก่ การจัดเตรียมแพะตัวรับ และแพะตัวให้ เพื่อทำน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียมโดยวิธีลาพาโลสโค (Laparoscope)

กิจกรรมย่อยที่ 6 : การวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ ได้แก่ การทดลองผสมเทียมแพะ ได้แก่ การทดสอบเชื้อกับแอนติเจนที่จัดเตรียม และทดสอบความแม่นยำ เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นชุดทดสอบต่อไป

กิจกรรมย่อยที่ 7 : การพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ การจัดทำห้องปฏิบัติวิเคราะห์น้ำนม และห้องปฏิบัติการแปรรูปน้ำนม GMP เพื่อจะใช้เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรต่อไป

นอกจากนี้ (วช.) ยังสนับสนุนกิจกรรมการขับเคลื่อนและส่งเสริมการเลี้ยงและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะจำนวน 2 กิจกรรมย่อย รวมเป็นเงิน 2,169,000 บาท ดังนี้

กิจกรรมย่อยที่ 1 : โครงการพัฒนาโรงฆ่าแพะฮาลาลต้นแบบเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อแพะคุณภาพดีในภาคใต้ตอนล่าง
กิจกรรมย่อยที่ 2 : กิจกรรมและสื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงแพะและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ

ทั้งนี้ (วช.) คาดว่าผลงานที่ให้การสนับสนุนครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแพะในภาคใต้และจะช่วยให้ผู้เลี้ยงแพะในภาคใต้ได้รับความรู้ที่ได้จากโครงการมีพัฒนาด้านการเลี้ยงแพะทั้งในด้านรูปแบบการจัดการ การจัดการระบบอาหาร การปรับปรุงพันธุ์และการผสมพันธุ์ และการจัดการเรื่องโรคแพะ โดยเฉพาะโดยเมลิออยโดสิส เกิดผู้เลี้ยงรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200 ราย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างงานอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพ ช่วยให้จำนวนประชากรแพะในพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 ตัว จึงช่วยลดการนำเข้าแพะจากต่างภูมิภาค และช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกแพะจากภาคใต้ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังคาดว่าการบริโภคผลผลิตจากแพะในภาคใต้จะเพิ่มขึ้น


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!