ข่าวใหม่อัพเดท » มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89

27 ธันวาคม 2021
0

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563 ภายใต้โครงการวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิต แอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” (โดยเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ.2557-2561) โดยปี พ.ศ.2557 ได้ดำเนินการผสมพันธุ์ระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329

ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ โดยเป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล เมื่อปี พ.ศ.2542 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ผลมีลักษณะรูปทรงกรวยปลายตัด ขนาดใหญ่ ผิวผลหนา มีสีแดงอมส้ม ผิวทึบแสง เนื้อในกลวง มีความแน่นเนื้อสูง มีรสเปรี้ยวอมหวาน กรอบ น้ำน้อย เส้นใยมาก และมีกลิ่นหอม ไม่นิยมรับประทานสด ช้ำยาก ทนทานต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับการแปรรูป และสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ โดยเป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่น คือ ลักษณะผลเป็นทรงกรวยถึงทรงกลมปลายแหลม ขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 15 กรัมต่อผล ผิวผลมีสีแดงสด เนื้อในเต็ม มีความแน่นเนื้อปานกลาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน มีความหวานเฉลี่ย 10-13 องศาบริกซ์ (º Brix) เหมาะสำหรับใช้รับประทานสด หลังจากทำการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้งสองสายพันธุ์แล้ว จึงนำเมล็ดลูกผสมดังกล่าวมาเพาะ โดยมีจำนวนเมล็ดที่เพาะทั้งสิ้น 300 เมล็ด

ต่อมาใน ปีพ.ศ.2560 ได้ทำการปลูกต้นสตรอว์เบอร์รีลูกผสมเหล่านั้น และทำการคัดเลือกลูกผสมดังกล่าว โดยคัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ผลมีลักษณะแดงเข้ม ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ มีความแน่นเนื้อสูง มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการสร้างสารแอนโทไซยานินสูง ได้จำนวน ทั้งหมด 2 ต้น และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นดังกล่าว โดยใช้ส่วนของไหล ได้จำนวนทิ้งสิ้น 500 ต้น จากนั้น ในปีพ.ศ.2561-2563 จึงทำการคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จนได้พันธุ์ที่มีความคงที่ และมีลักษณะผลสีส้มแดงถึงแดงเข้ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 20.60 กรัม ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง (สารแอนโทไซยานิน) รวมเฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม น้ำหนักสด ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89”

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ ชนิด/ประเภท ชื่อไทย สตรอว์เบอร์รี ชื่อวิทยาศาสตร์ Fragaria × ananassa (Duchesne ex Weston) Duchesne ex Rozier จัดเป็นไม้ล้มลุก ราก รากหลักมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 20 – 30 ราก และมีรากแขนงเล็กๆ เป็นจำนวนมาก สำหรับรากปฐมภูมิจะเจริญจากส่วนของลำต้น โดยมีความยาวหลายนิ้ว และเนื้อเยื่อตรงกลางรากจะมีลักษณะสีขาว ลำต้น ความสูงทรงพุ่มเฉลี่ย 10.30 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ย 18.40 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกแขนง ส่วนนอกถูกปกคลุมโดยการซ้อนกันของหูใบ ใบจัดเป็นใบประกอบ มี 3 ใบย่อย รูปรี โดยมีความกว้างเฉลี่ย 3.04 เซนติเมตร และยาวเฉลี่ย 4.20 เซนติเมตร พื้นที่ใบเฉลี่ย 466.65 ตารางเซนติเมตร ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียวเข้ม ก้านใบหนา ซึ่งก้านใบมีความยาวเฉลี่ย 4.10 เซนติเมตร ดอก จัดเป็นดอกเดี่ยว ดอกเกือบทั้งหมดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ จำนวนดอกเฉลี่ย 13 ดอกต่อต้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอกมีขนาด 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีขนาดใหญ่เฉลี่ยจำนวน 12 – 14 อัน โดยมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม กลีบดอกมีจำนวนเฉลี่ย 5 – 8 กลีบ มีสีขาว และเกสรเพศเมียอยู่ตำแหน่งตรงกลางดอกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ช่อดอกมีความยาวเฉลี่ย 9.05 เซนติเมตร สั้น ไม่โผล่พ้นทรงพุ่มผล จัดเป็นผลรวม ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ถึงรูปทรงกลมปลายแหลม โดยผลมีความกว้างเฉลี่ย 3.05 เซนติเมตร และยาวเฉลี่ย 4.00 เซนติเมตร ผลมีส้มแดงถึงสีแดงเข้ม เนื้อผลสีแดงสลับขาว น้ำหนักเฉลี่ย 20.60 กรัมต่อผล

ลักษณะอื่นๆ 1.มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น สารแอนโทไซยานิน โดยพบว่าปริมาณสาร แอนโทไซยานินทั้งหมดเฉลี่ยเท่ากับ 40.83 มิลลิกรัมต่อ100 กรัมน้ำหนักสด ปริมาณไซยานิดิน 3-กลูโคไซด์เฉลี่ยเท่ากับ 20.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักสด และปริมาณ เพลาโกนิดิน 3-กลูโคไซด์เฉลี่ยเท่ากับ 484.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักสด ซึ่งปริมาณ แอนโทไซยานินเหล่านี้สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า, 2.ระยะเวลาดอกแรกบานเฉลี่ยเท่ากับ 61 วัน หลังย้ายปลูก, และ 3.ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ และมีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 205.75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักสด ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน มีกลิ่นหอม และทนทานต่อการขนส่ง

ข้อมูลโดย : ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้ทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยนเรศวรและมูลนิธิโครงการหลวงโดยมีนิสิตปริญญาเอก อาจารย์มงคล ศิริจันทร์


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!