วช. หนุนโครงการวิจัย ม.นเรศวร และ มทร.ล้านนา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ผลักดันผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากเสาวรส และขิง สู่เชิงพาณิชย์
วันที่ 10 มกราคม 2565 ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ และ ผศ.ดร.ไพศาล วุฒิจำนงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ สนับสนุนผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผลักดันผลงานวิจัย 3 โครงการ ภายใต้โครงการ การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ 3) โดยความร่วมมือของ (วช.),สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย ได้แก่ บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด และ บริษัท สุธัมบดี จำกัด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม สร้างอาชีพ และรายได้ให้เกษตรกร เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ภายใต้กระแสนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพ และมีรสชาติที่ลงตัว มากกว่าผลิตภัณฑ์เดิมๆ ในท้องตลาด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย “งานวิจัยและนวัตกรรม” จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการภาคใต้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ร่วมกับ สวทช.,สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ (วช.) มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
ขณะที่ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House (วช.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ทั้ง 3 โครงการ ล้วนมีการนำไปต่อยอดแล้วในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) ในลักษณะการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เกิดผลพวงหลายอย่าง อาทิ ด้านการจัดการปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่พ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือมีราคาต่ำ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสปาร์คกิ้งจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการผลิตเอง ด้านสาธารณสุขในการลดหรือชะลอปัญหาการเกิดโรคต่างๆ จากการบริโภคอาหาร เป็นต้น อันสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงประโยชน์ในงานวิจัย
ด้าน ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย ได้จับมือกับ บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมกันต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสบรรจุกระป๋อง ให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้สนับสนุนการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง โดยมีการศึกษาชนิดของพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ซึ่งพรีไบโอติกจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารของผู้บริโภคเกิดความสมดุล ส่งผลดีต่อสุขภาพ ศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
ซึ่งในวันต่อไป (วช.) จะลงพื้นที่ ณ บริษัท สุธัมบดี จำกัด ภายใต้แบรนด์ เขาค้อเฮอร์เบอรี Khaokhoherbary เพื่อสนับสนุนการแปรรูปขิงเป็นผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก” ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.นิอร โฉมศรี จากสถาบันเทคโนโลยีเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน” ผลงานของผศ.เฉลิมพล ถนอมวงค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก (วช.) เช่นเดียวกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนา เกิดกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน