วช. ลงพื้นที่ บจก.สุธัมบดี อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สนับสนุนนักวิจัย มทร.ล้านนา พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์จากขิง เป็นของดีเมืองเพชรบูรณ์ ตอบโจทย์ตลาดคนรักสุขภาพ และผู้บริโภคทั่วไป พร้อมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ กระตุ้นเกษตรกรรมในพื้นที่
วันที่ 11 มกราคม 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ บริษัท สุธัมบดี จำกัด อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สนับสนุนงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 2 โครงการ เพื่อนำองค์ความรู้งานวิจัยมายกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นให้เติบโตในเชิงอุตสาหกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ ให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในพื้นที่
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House (วช.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก (วช.),(สวทช.) และ (สกสว.) ล้วนมีการนำไปต่อยอดแล้วในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) เกิดผลพวงหลายอย่าง อาทิ ด้านการจัดการปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่พ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือมีราคาต่ำ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสปาร์คกิ้งจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการผลิตเอง ด้านสาธารณสุขในการลดหรือชะลอปัญหาการเกิดโรคต่างๆ จากการบริโภคอาหาร เป็นต้น จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่งานวิจัยได้มีส่วนช่วยต่อการพัฒนา
นายยงชาติ ชมดี ผู้บริหารบริษัท สุธัมบดี จำกัด ภายใต้แบรนด์ เขาค้อเฮอร์เบอรี Khaokhoherbary เปิดเผยว่า บริษัทฯ ใช้แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมองหาผลิต ผลใกล้ตัวในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าโดยเล็งเห็นว่า “ขิง” ซึ่งเป็นของดีในอำเภอเขาค้อ ยังไม่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบใหม่อย่างจริงจัง จึงได้ร่วมมือกับนักวิจัย 2 ท่าน เพื่อพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก และผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน ซึ่งทางบริษัทมีความทักษะความรู้ด้านโรงงานผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GMP อยู่แล้ว เมื่อได้องค์ความรู้ทางการวิจัยมาช่วยสนับสนุน เชื่อว่าจะสามารถขยายไปถึงการส่งออก อัพเกรดสินค้าให้มีความพรีเมียม สามารถผลักดันเป็นสินค้าทางเลือกสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งช่วยชูโรงเป็นของฝากส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง
ด้าน ผศ.ดร.นิอร โฉมศรี จากสถาบันเทคโนโลยีเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของโครงการการพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งใช้การอัด Co2 เข้าไป แต่เครื่องดื่มที่ทีมวิจัยพัฒนาสูตรให้ผู้ประกอบการจะใช้กระบวนการหมักยีสต์ (จุลินทรีย์ที่ดี) กับขิง น้ำเปล่าและน้ำตาล เป็นเวลา 15 ชั่วโมง ในอุณหภูมิปกติ จนเกิดฟองแก๊สโดยธรรมชาติ มีกลิ่มหอม รสสัมผัสนุ่มละมุน ให้ความสดชื่นและดื่มง่ายมากกว่าเครื่องดื่มจากขิงประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจน ขณะนี้ได้ทดลองบรรจุแบบขวดพาสเจอร์ไรซ์ ให้สามารถเก็บได้อุณหภูมิปกติ พร้อมศึกษาอายุการเก็บรักษาและคุณค่าทางอาหาร ซึ่งขิงมีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการวิงเวียน อยู่แล้วจากการอ้างอิงของงานวิจัยต่างๆ โดยจะสนับสนุนการควบคุมการผลิตของ SMEs ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอในทุกๆ ล็อต
นอกจากนี้ ผศ.เฉลิมพล ถนอมวงค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เจ้าของโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน” เล่าว่า วิถีชีวิตของคนไทยที่เร่งรีบ และกระแสความนิยมทานขนมปังคู่กับผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรดแบบชาวตะวันตกในท้องตลาดทั่วไป ประกอบด้วยไขมันและน้ำตาลสูง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงสนใจบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิม สามารถรับประทานได้อย่างสบายใจ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นักวิจัยและบริษัท สุธัมบดี จำกัด จึงพัฒนาสูตรอาหารสเปรดช็อกโกแลตไขมันต่ำโดยเสริมขิงผง และข้าวหอมมะลิแดงเข้าไป เบื้องต้นสามารถลดองค์ประกอบของไขมันลงไปได้ร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับสเปรดช็อกโกแลตอื่นๆในท้องตลาด ได้กลิ่นและรสชาติจากขิงที่ลงตัว วิธีการผลิตคล้ายกับการผลิตแยมผลไม้ทั่วๆ ไป แต่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า สามารถรับประทานได้ทุกช่วงวัย ในขั้นต่อไปจะทดสอบสูตรให้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อที่ SMEsจะได้ผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป
สำหรับทั้ง 2 โครงการที่ (วช.) ได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ 3) โดยความร่วมมือของ (วช.),(สวทช.),(สกสว.) และผู้ประกอบการ SMEs บจก. สุธัมบดี ร่วมกันสนับสนุนและบริหารทุนวิจัย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน