ข่าวใหม่อัพเดท » วช. หนุน เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบเปลแรงดันลบ PETE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 100 ชุด เดินหน้าพัฒนาติดตั้ง PETE ทุกยานพาหนะ สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทันท่วงที

วช. หนุน เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบเปลแรงดันลบ PETE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 100 ชุด เดินหน้าพัฒนาติดตั้ง PETE ทุกยานพาหนะ สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทันท่วงที

28 มกราคม 2022
0

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ส่งมอบเปลแรงดับลบ PETE เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ รับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค-สวทช.) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการส่งมอบ PETE เปลปกป้องให้แก่สถานพยาบาล จำนวน 16 แห่ง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันมีการส่งมอบแล้วจำนวน 100 ชุด โดยจุดเด่นของ PETE เปลปกป้อง ไม่เพียงมีการออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะที่แข็งแรงและปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังสามารถทลายข้อจำกัดการใช้งานของเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาด อันดับแรกคือมีระบบ Smart controller ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปล ทำให้ใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก แจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อถึงกำหนด ส่วนที่สองคือ นำเปลเข้าเครื่อง CT scan ได้ ส่วนสุดท้ายคือ ตัวเปลพับเก็บลงกระเป๋าและมีน้ำหนักเบา ทำให้พกพาสะดวกและติดตั้งง่าย เหมาะสมกับการใช้งานในรถพยาบาล ดังนั้นแล้วหากนำ PETE มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ด้วยการออกแบบและพัฒนาให้สามารถผลิตได้ในประเทศ ทำให้ปัจจุบัน PETE มีราคาจำหน่ายที่ชุดละประมาณ 200,000 บาท ซึ่งถูกกว่าตลาดโลก 2-3 เท่า ในขณะที่มีมาตรฐานระดับสากล

ดร.ศราวุธฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเอ็มเทคได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลไปสู่การใช้งานในวงกว้างเพื่อสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่คนไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดีจากการสำรวจความต้องการในปัจจุบัน ยังมีสถานพยาบาลที่ต้องการใช้งานเปลแรงดันลบอยู่มาก และมีการตั้งเป้าหมายว่าต่อไปในอนาคตควรมีเปลแรงดันลบติดตั้งอยู่ในทุกยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนการส่งมอบ “PETE เปลปกป้อง” ให้แก่สถานพยาบาล ติดต่อได้ที่ศูนย์เทค โนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หรืออีเมล์ pete@mtec.or.th เพื่อร่วมยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!