ข่าวใหม่อัพเดท » ม.กาฬสินธุ์ คิดค้น “เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน” สู่รางวัล I-New Gen Award 2021

ม.กาฬสินธุ์ คิดค้น “เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน” สู่รางวัล I-New Gen Award 2021

9 กุมภาพันธ์ 2022
0

ม.กาฬสินธุ์ คิดค้น “เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน” สู่รางวัล I-New Gen Award 2021

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 นักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำนวัตกรรม “เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน” ย่นเวลากว่า 10 เท่า เข้ารับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา ในกลุ่มอาหาร จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ( I-New Gen Award 2021) ที่งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ว่าที่ร้อยตรีอนุชา ศรีบุรัมย์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ชุมชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งทำอาชีพแปรรูปสินค้าจากปลา ประเภทกลุ่มปลาตะเพียน เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว และปลากระมัง เพื่อแปรรูปเป็น ปลาตากแห้ง ปลาส้ม ฯ ซึ่งต้องมีการขอดเกล็ดปลาจำนวน 120 กิโลกรัมต่อวัน ใช้แรงงานจำนวนหลายคน ทำให้ต้องเวลาขอดเกล็ดนานถึง 8 ชั่วโมง นักประดิษฐ์ จึงเกิดไอเดียพัฒนาเครื่องขอดเกล็ดปลาขึ้น โดยใช้เวลาเพียงแค่ 40 นาที เร็วกว่า 10 เท่า โดยเครื่องสามารถขอดเกล็ดปลาได้สูงสุด 15 กิโลกรัม ต่อครั้ง ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตของชุมชนได้ถึง 92% พร้อมทั้ง ลดต้นทุนแรงงานคน เหลือเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น นับเป็นการสร้างกลไกที่มั่นคงให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา และส่งเสริมอาชีพการทำปลา OTOP ของชุมชนให้สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับนวัตกรรมได้

นายนครินทร์ สุดสนธิ์ หนึ่งในทีมนักประดิษฐ์ กล่าวเสริมว่า เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน ใช้งานได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ตัวเครื่องมีขนาดถังรองรับการขอดเกล็ด ประมาณ 15 กิโลกรัมต่อครั้ง และมีความเร็วรอบแกนหมุนประมาณ 60 รอบต่อนาที ใช้เวลาเดินเครื่อง 5 นาทีต่อครั้ง โดยก่อนจะนำปลาเข้าถังหมุนเพื่อขอดเกล็ด โดยจะต้องเอาปลาไปแช่ในน้ำแข็งก่อน เมื่อนำมาขอดเกล็ดจึงจะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ในเวลาอันรวดเร็ว อนาคตจะพัฒนาขนาดของเครื่องให้สามารถใช้งานได้กับปลาชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กิจกรรมวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจเข้าร่วมจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเวทีนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา จากส่วนกลางและอีกหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้มุ่งมั่นตั้งใจนำเสนอผลงานประดิษฐ์ต่อคณะกรรมการ และมอบความรู้ แรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวทีนี้จะเป็นจุดสานต่องานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไปสู่เวทีระดับประเทศ เพื่อให้เกิดมาตรฐานของนวัตกรรม และการนำไปใช้ประโยชน์ ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาการ พร้อมทั้ง ให้เยาวชนเติบโตเป็นนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศได้ต่อไป


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!