ช่วงโควิดระบาด อาจารย์ มจร. ซุ่มทำงานวิจัยท่องเที่ยววิถีพุทธ ได้ผลเกินคาด
ผศ. ดร.สุนทราภรณ์ เตชะพะโลกุล อาจารย์พิเศษ คณะพุทธศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เปิดเผยว่า เมื่อตอนที่ช่วงโควิด -19 ได้ระบาดหนักในประเทศไทย ระหว่าง ปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2564 อาจารย์ใน มจร. กลุ่มหนึ่ง ร่วมกันทำงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัย ปีงบประมาณ 2564 เรื่อง นวัตกรรมข้อมูลกลางเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีพุทธในระดับนานาชาติ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านทางสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร. ซึ่งเป็นตัวกลางรับทุนวิจัยจาก สกสว. แผน
งานวิจัยดังกล่าวนั้นแบ่งเป็น 4 โครงการวิจัยย่อย โดยมี พระมหาทวี มหาปญฺโ (ละลง), ดร. เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัยและหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 1 ดร.อุดม จันทิมา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 2 ดร.กรรณิการ์ ขาวเงิน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3 สำหรับตนนั้น เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 4 ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์และคู่มือในรูปแบบดิจิทัลสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีพุทธนานาชาติในเมืองรองของประเทศไทย มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยและจัดทำคลิปวิดีโอ ของ 77 สถานที่ท่องเที่ยว ใน 55 เมืองรอง รวม 60 คลิปและคู่มือดิจิทัลแบบอินโฟกราฟิก ที่เป็นภาษาไทยและภาษอังกฤษ เพื่อนำเสนอให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าชมและศึกษาข้อมูล ผ่านสื่อโซเซียล หลังจากนั้นก็นำผลวิจัยมาสรุปว่า เราควรพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์อย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวที่แหล่งท่องเที่ยวให้มากที่สุด
ผศ. ดร.สุนทราภรณ์ ยังได้เปิดเผยอีกว่า จริง ๆ การทำวิจัยดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย โดยฉเพาะการท่องเที่ยวในเมืองรองแบบวิถีพุทธ ปัญหาคือยังขาดข้อมูลนำเสนอและการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อได้ศึกษาวิจัยแล้ว กลับพบว่า แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ น่าสนใจไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเมืองหลัก โดยภาพรวมแล้ว การทำวิจัยมุ่งศึกษาไปที่ศักยภาพตลาดการท่องเที่ยววิถีพุทธในเมืองรอง การใช้สื่อประชาสัมพันธ์กับแหล่งท่องเที่ยว และการสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่จะให้คนสนใจมากที่สุด หลังจากที่ได้ศึกษาวิจัยแล้ว พบว่า 1) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เติบโตอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2545 และคาดว่า การท่องเที่ยวแบบวิถีพุทธในเมืองรองจะเติบโตอย่างมีศักยภาพตามไปด้วย 2) ควรประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับชมแหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อสมัยใหม่ให้มากที่สุด 3) นักท่องเที่ยวนิยมเข้าชมและศึกษาข้อมูลจากสื่อโซเซียลก่อนไปเที่ยวชมยังสถานที่จริง ข้อมูลวิจัยที่ค้นพบนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดเชิงปฏิบัติการ เชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมหาศาล
จากการนี้ยังพบว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เชื่อว่า หลังจากโรคระบาดดังกล่าวหมดไปแล้ว แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักหรือเมืองรองจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและประเทศชาติอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวแบบวิถีพุทธในเมืองรอง ทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.travel2thailand.com
Cr.ณัฐพงษ์ นาคถ้ำ