วช. ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน “อารยะศิลป์ ชัยภูมิ” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณเฮือนคำมุ จ.ชัยภูมิ
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ร่วมประชุมเตรียมการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน “อารยะศิลป์ ชัยภูมิ”พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ (เฮือนคำมุ) ณ ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านช้างในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน เป็นการดำเนินงานของ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความยั่งยืนในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนและคุณภาพชีวิตให้กับท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน”ในภูมิภาคต่างๆโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ชุมชน หรือสังคม ได้เข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรม และสามารถนำไปใช้งานได้จริง เชื่อมโยงพัฒนาการประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
การประชุมเพื่อประชุมหารือจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนฯ “อารยะศิลป์ ชัยภูมิ” พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ (เฮือนคำมุ) จังหวัดชัยภูมิ ดำเนินการโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำเสนอผ้าซิ่นชัยภูมิ ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนา จากการสืบทอดทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตอารยธรรมล้านช้างในประเทศไทย ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของคนในแต่ละยุคสมัย โดยมี ดร.คมกฤช ฤทธิ์ขจร เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน สำหรับเป็นสถานที่รวบรวมวัตถุและผ้าโบราณ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านช้างในแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
เครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงาน จะประกอบด้วย หน่วยงานสนับสนุนการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม โดย (วช.) พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดย (วช.) มีเป้าหมายให้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ได้สร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่และท้องถิ่น ในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน