“ฟื้นฟูการศึกษา” หลักคิดขององค์กรนานาชาติเพื่อปรับใช้ในประเทศไทย
หลังจากเกิดสถานการณ์ COVID -19 ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบการศึกษาคือ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ออกกลางคัน ขาดการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และความรู้ถดถอย เมื่อเปิดโรงเรียนหลังสถานการณ์ไวรัสคลี่คลาย แม้เด็กจะมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง แต่น่าจะไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีการสร้างระบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ โดยมีการสนับสนุนอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กปรับตัวและติดตามบทเรียนได้ทัน เราต้องช่วยโรงเรียนในการเตรียมให้การสนับสนุนและรับมือกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่นี้ โดยมีอนาคตของนักเรียนทั้งรุ่นเป็นเดิมพัน
องค์กรระดับนานาชาติ อาทิ UNESCO, THE WORLD BANK และ UNICEF ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาและฟื้นฟูการศึกษา ภายใต้ 3 เป้าหมายและพันธกิจหลัก ซึ่งยูนิเซฟประเทศไทยร่วมกับ กสศ.ได้นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อขยายผล โดยมีหน่วยงานและองค์กรเครือข่ายเข้าร่วมพิจารณาเนื้อหา “พันธกิจประเทศไทย ฟื้นฟูการศึกษาปีการศึกษา 2564” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและควรประกาศเป็นนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กวัยเรียนทุกคนได้กลับไปเรียนหนังสืออย่างปลอดภัยและได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ สติปัญญา จริยธรรม ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ตลอดจนความต้องการด้านอื่นๆ โดยควรดำเนินการเต็มรูปแบบ ตั้งเเต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
ทิศทางฟื้นฟูการศึกษาสำหรับประเทศไทย ควรประกอบด้วย 3 เป้าหมาย และวิธีดำเนินการสำคัญ คือ
1.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการในด้านอื่นๆ
วิธีดำเนินการ ได้แก่ หน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคีเครือข่ายต่างๆต้องช่วยกันออกแบบวิธีการปฏิบัติในการเปิดโรงเรียน วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และความต้องการด้านอื่นๆของผู้เรียน เน้นการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร อาทิ กิจกรรมกลุ่ม ค่ายพักแรมกิจกรรมชมรม การจัดให้มีการเสริมทักษะด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ และอื่นๆรวมไปถึงการปรับเนื้อหาการเรียนการสอน ให้เป็นเเบบบูรณาการ การกำหนดเนื้อหา ให้เน้นเนื้อหาที่ต้องรู้หรือควรรู้ เเละการจัดกิจกรรมไม่ติดยึดกับระยะเวลาเรียน หรือขั้นตอนการดำเนินการตามปกติ
2.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน
วิธีดำเนินการ ได้แก่ การร่วมออกแบบการสอนเสริม ในระดับชั้นต่างๆ (Tutoring) จัดให้มีกระบวนการประเมินการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม มีการประเมินความถดถอยของการเรียนรู้และแสดงผลความต้องการของผู้เรียน มีความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กเปราะบาง ผู้พิการ หรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ออกแบบลงมือปฎิบัติตามแผนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและจัดให้ผู้เรียนมีเครื่องมือพื้นฐานด้านเทคโนโลยีพอเพียง กระตุ้นการพัฒนาทักษะการรู้หนังสือ ทักษะการคิดพื้นฐานอ่านออกเขียนได้ โดยผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อสอนทักษะพื้นฐาน ที่ช่วยสนับสนุนให้ครูในห้องเรียนได้สามารถเตรียมเด็กให้มีความพร้อมสำหรับการสอนในรูปแบบดิจิทัลในอนาคต
3.ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน โดยอบรมพัฒนาครูให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆมาผสมผสานในการสอน
วิธีดำเนินการ ได้เเก่ การสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับวัคซีนเป็นอันดับต้นๆรองจากบุคลากรแนวหน้าและประชากรที่มีความเสี่ยงสูง จัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการจัดหลักสูตรที่ประกอบด้วยการสอนเสริมและการสอนผ่านรูปแบบดิจิทัล หรือการสอนในรูปแบบผสมผสาน
หน่วยงานระดับประเทศ ต้องระดมทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นฟูการศึกษา ให้บรรลุผลตาม 3 เป้าหมายสำคัญที่กำหนด ผลักดันให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม นำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ให้กับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบาย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการฟื้นฟูทางการศึกษา
ในอนาคต เมื่อสถานการณ์โควิดปรับเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น ปัญหาด้านสาธารณสุขน่าจะคลี่คลายลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือความถดถอยด้านความรู้ของเด็ก และเวลาที่เสียไปในช่วง 3 ถึง 4 ปี ที่ผ่านมา จำเป็นต้องมีการจัดระบบเติมเต็มความรู้ และฟื้นฟูการศึกษาให้กลับมาสู่รูปแบบและระบบที่มีคุณภาพดังเดิม สิ่งเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และด้วยความมุ่งมั่นที่จะผนึกกำลัง ร่วมกันในการเเก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาไทย
โดย ดร.กมล รอดคล้าย