เสมา 3 ลุยตรวจเยี่ยม ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ ชื่นชม มีการจัดการเรียนรู้ได้อย่างดีเยี่ยม ลั่น ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนในชุมชน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายและให้กำลังใจบุคลากรของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายกิตติไกร ฝีปากเพราะ นายอำเภอตรอน นายรวิโรจน์ ปวงกาวี รองผู้อำนวยการ กศน. จังหวัดอุตรดิตถ์ นายณัฐพงษ์ อังคะนาวิน รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ นายวินัย ปิ่นอินทร์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ กศน.อำเภอตรอน บุคลากรในสังกัดศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ ครู กศน. นักศึกษา ประชาชน ภาคีเครือข่าย และผู้นำชุมชน ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมร่วมชมบูธกิจกรรมต่างๆ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ในครั้งนี้ ทำให้ครูโอ๊ะได้เห็นถึงความพยายาม ความมุ่งมั่น และความสำเร็จของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์ ในการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพ แก่คนในชุมชน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ตามความต้องการ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกพื้นที่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งผลให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ในพื้นที่ชายแดน ทั้งยังได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาร่วมกับสำนักงาน กศน.จังหวัด และสถานศึกษาในพื้นที่ รวมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับต่างๆเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมได้อย่างดีเยี่ยม
“ครูโอ๊ะขอชื่นชมและขอบคุณ ผู้บริหารศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนอุตรดิตถ์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาให้ศูนย์ฝึกแห่งนี้มีความเข้มแข็งจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ กระทั่งกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งยังมีการนำสถานที่ตั้งของศูนย์ฝึกฯซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ผสมผสานไปด้วยต้นไม้ใหญ่บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่และล้อมรอบไปด้วยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แหล่งมาสร้างเป็นจุดเช็คอินให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้เช็คอินสร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมในพื้นที่ และขอชื่นชมในความใส่ใจของการทำกิจกรรมซึ่งจะมีการเปลี่ยนรูปแบบ “ฉากหลัง (backdrop)”ทุก 3 เดือน ควบคู่การทดลองปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นแปลงสาธิต ทดลอง และวิจัย มีการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนด้วยการเชิญชวนชาวบ้านในชุมชนท้องที่ท้องถิ่นเข้ารับการฝึกอบรม กระทั่งชาวบ้านได้รับการเติมเต็มความรู้ สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดยังผู้อื่นต่อได้ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ครูโอ๊ะขอชื่นชมและขอบคุณจากหัวใจ หากมีสิ่งใดที่สามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนได้ก็พร้อมจะทำทันที เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว