เสมา 3 หนุนครูกศน.พัฒนาทักษะและสมรรถนะครูด้านภาษา ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
วันที่ 9 มีนาคม 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการนิเทศ ติดตามและขยายผลหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของสำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน. ผศ.ดร.ปิยพงษ์ สุเมตติกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผอ.กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นายปิยวิทย์ เชิดกลิ่น ผอ.กศน.จังหวัดปราจีนบุรี และผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ ข้าราชการ ตลอดจนครู กศน.ตำบล และนักศึกษา กศน. สังกัด กศน.จังหวัดปราจีนบุรี ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ ห้องประชุมสำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรี
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.กล่าวว่า การนิเทศ ติดตามและการอบรมขยายผลหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของสำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรี ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการสืบเนื่องต่อจากการอบรมครูต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในระยะที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างครู กศน. ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้สามารถถ่ายทอด ขยายผลเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้บริหาร เพื่อนครู และผู้เรียน โดยใช้ชุมชน การเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อยกระดับสมรรถนะทางด้านภาษาอังกฤษ และการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สร้างองค์ความรู้เพื่อการถ่ายทอดพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูไปสู่นักศึกษา กศน. และประชาชนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการสำคัญในการขยายผลเพื่อการพัฒนาครู สังกัดสำนักงาน กศน. อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครู กศน. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ : Good Teacher สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบาย และจุดเน้นการดำเนินงานของสำนักงาน กศน.ประจำปี 2565
“สิ่งสำคัญของการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ ครู กศน.ในทุกมิติ จะต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับพันธกิจของ กศน. ซึ่งในเรื่องของภาษา ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นในยุคปัจจุบัน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ควบคู่กับการใช้ภาษาเพื่อพัฒนาตนเองของครู กศน.โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษาสื่อสารสากล ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้โลกออนไลน์และโลกยุคใหม่อย่างกว้างขวาง ตลอดจนการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเป็นผู้สูงวัย
ดังนั้น ครู กศน.ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาด้านภาษา ให้สามารถใช้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ในการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้อง ชัดเจน เช่นเดียวกับผู้บริหาร กศน. ต้องพัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างเข้มข้น เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมามีส่วนร่วมและต่อยอดการทำงานของ กศน. อย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ ขอแสดงความขอบคุณผู้บริหาร กศน. ตลอดจนกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาซึ่งเป็นผู้จัด ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการ กระบวนการจัดกิจกรรม การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และที่น่าชื่นชม คือ การนิเทศ ติดตาม การนำความรู้ไปปฏิบัติในสถานศึกษาหลังการอบรมในครั้งนี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์และมีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นครู กศน.ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (Best Practice) จำนวน 12 คน จากจำนวนผู้ผ่านการอบรม (ระยะที่ 1) จำนวน104 คน โดยเป็นครูจากสำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรีที่ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 2 คน จึงขอแสดงความยินดีและชื่นชม ขอให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนา ศักยภาพแข่งขันกับตัวเองให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ภายใต้บริบทของคน กศน. ซึ่งเป็นคนพันธุ์พิเศษสำหรับครูโอ๊ะเสมอมา
ขอแสดงความขอบคุณเครือข่ายการทำงานของ กศน.จากหลายพื้นที่ สถานศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนผู้บริหาร กศน.ในจังหวัดปราจีนบุรี ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน.ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ขอฝากให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำจุดดี จุดเด่นของแต่ละพื้นที่ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับงาน กศน.ตามแต่ละบริบท เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนต่อไป