“วิลาศ” ร้อง “พรพิศ” สอบเรื่องฉาวแจ้งความเท็จกรณีวิศวกรโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ติดโควิด-19 ปกปิดความผิดเรื่องรับจ้างเหมาช่วง
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 เวลา 11.45 น. ที่อาคารรัฐสภา : นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้รับจ้างแจ้งรายชื่อวิศวกรติดเชื้อโควิด-19 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีเรื่องร้องเรียนซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงระยะเวลาก่อสร้างที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศค่อนข้างจะรุนแรง (ประมาณเดือนเมษายน 2564)
ปรากฎว่าได้รับข้อร้องเรียนว่ามีวิศวกรจำนวน 4 รายซึ่งทำงานอยู่บริษัทผู้รับเหมาช่วงและตามกฎหมายและระเบียบต้องแจ้งรายชื่อและ Time Line ให้ผู้ว่าจ้างทราบ แต่เกรงว่าจะผิดข้อสัญญาข้อ 11 เรื่องห้ามมีผู้รับเหมาช่วง ผู้รับจ้างจึงแจ้งว่าเป็นวิศวกรของผู้รับจ้างตามรายชื่อดังกล่าวทั้ง 4 ราย พร้อมทั้ง Time Line จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียน เห็นว่ามีการกระทำซึ่งอาจเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
จึงขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบกรณีดังกล่าว รวมทั้งขอให้ตรวจสอบวิศวกรและสถาปนิกทุกคนของทุกบริษัทผู้รับจ้างที่มีการแจ้งว่าติดเชื้อ Covid-19 ว่ามีการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จอีกหรือไม่ รวมทั้งขอให้ดำเนินการทางกฎหมายโดยเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำการอันเป็นเท็จดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ นายวิลาศฯ ยังได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีน้ำรั่วโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 จากกรณีเมื่อเช้ามืดวันที่ 1 มี.ค.65 ได้เกิดน้ำรั่วไหลบริเวณชั้น 8 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้เอกสารบางส่วนรวมทั้งส่วนประกอบของอาคารหลายรายการเสียหายตั้งแต่ชั้น 8 ลงมาถึงชั้น B1 โดยเฉพาะลิฟท์ 3 ตัวที่อยู่ใกล้ห้องทำงานของข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งในสัญญาก่อสร้างข้อ 30 ผู้รับจ้างจะต้องทำประกันโดยเฉพาะลิฟท์ไว้แล้วด้วย มีประเด็นปัญหาเมื่อมีการทำประกันไว้และมีการชำรุดเสียหายโดยเฉพาะระบบไฟฟ้า บริษัทประกันจะซ่อมแซมให้เท่านั้น เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานที่เป็นของใหม่เท่านั้น
นอกจากนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำรั่วเกิดจากท่อน้ำรดต้นไม้แตก และมีการร้องเรียนว่าบริษัทที่รับจ้างวางท่อน้ำรดต้นไม้เป็นบริษัทผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาช่วง จึงขอให้ตรวจสอบว่าผู้รับจ้างวางท่อน้ำรดต้นไม้เป็นผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาช่วงจริงหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด อีกทั้งขอให้ตรวจสอบว่าท่อรดน้ำต้นไม้ที่ใช้ก่อสร้างในอาคารรัฐสภาทั้งหมดมีการใช้วัสดุถูกต้องจริงตาม Vender List หรือไม่
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน