นายด่านศุลกากรนครพนม เผยโควิดทำพิษจีนเข้มงวดนำเข้า ยอดการค้าชายแดนลดเกินครึ่ง หนักสุดผลไม้ไทยขาดทุนยับ ประสานเปิดด่านชายแดนชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานศุลกากรจังหวัดนครพนม โดยนางสาวสุนทรียา ทวิชาประสิทธิ์ นายด่านศุลกากรนครพนม เปิดเผยว่าช่วงปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือนกันยายน 63-ตุลาคม 64 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วทุกภูมิภาค แต่ถือว่ายอดการค้าชายแดนของ จ.นครพนม ยังได้รับผลกระทบน้อยมาก โดยมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 19,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 99,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นมูลค่าการส่งออกสูงกว่านำเข้า สินค้าส่งออกมากสุดเป็นอันดับต้นๆคือผลไม้ไทย(ทุเรียน มังคุด ลำไย) และ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยผู้ส่งออกใช้เส้นทาง R 12 เป็นทางหลักในการขนส่งสินค้า ออกจากด่านพรมแดนนครพนมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ผ่านประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)และ เวียดนาม แล่นเข้าถึงชายแดนจีนบริเวณด่านโยว่อี้กวน และด่านตงซิง
นายด่านศุลกากรนครพนม กล่าวต่อว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา(2563-64) จึงยังถือว่าการค้าชาย แดนได้รับผลกระทบน้อยมากจากสถานการณ์โควิด แต่ในห้วงต้นปี 2565 คือเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน การค้าชายแดนโดยเฉพาะสินค้าส่งออกได้รับผลกระทบหนัก ทั้งนี้ เกิดจากทางการจีนมีการเข้มงวดคัดกรองรถบรรทุกสินค้านำเข้าชายแดน ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มระยะเวลาในการขนส่งสินค้า จากเดิมรถบรรทุกสินค้าจอดรอที่ด่านทั้งสองแห่ง(ด่านโยว่อี้กวน ด่านตงซิง) ประมาณ 3-5 วัน ภายหลังด่านตงซิงปิดโดยไม่มีกำหนด จึงเหลือด่านโยว่อี้กวนเพียงแห่งเดียว และอนุญาตให้เข้าเพียงวันละ 20 คัน ขณะที่บริเวณหน้าด่านมีรถบรรทุกจอดรอร่วม 2 พันคัน ทำให้รถจำเป็นต้องจอดรอเข้าด่านเพิ่มเป็น 10-15 วัน ปัญหาที่ตามมา คือ กระทบหนักเรื่องการขนส่งผลไม้ เพราะจะต้องใช้ระยะเวลาจำกัด หากขยายเวลาในการคัดกรอง ทำให้ผลไม้เกิดความเสียหายเน่าเสีย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ ผ่านทางชายแดนนครพนม ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ด้านผู้ประกอบการ จึงหันไปใช้การขนส่งทางอากาศและทางน้ำ ในเส้นทางชายแดนอื่น แต่ต้องแบกภาระเพิ่มต้นทุนสูง ซึ่งหากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดยังไม่ดีขึ้น คาดว่ามีโอกาสส่งผลกระทบในระยะยาว โดยทางศุลกากรนครพนม ไม่สามารถจะวางแนวทางช่วยเหลือได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเรื่องของเส้นทางนอกประเทศ ต้องให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาด้วยการส่งสินค้าช่องทางอื่น ทั้ง ทางอากาศ ทางน้ำ และทางรถไฟ ในช่วงนี้แทนไปพลางก่อน
นางสาวสุนทรียา ทวิชาประสิทธิ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาในพื้นที่ชายแดน จ.นครพนม รวมถึงวางแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยศุลกากรนครพนมได้หารือกับจังหวัดนครพนม ร่วมกับหน่วยงานเอกชน ตัวแทนผู้ประกอบการ ว่า นอกจากการขนส่งสินค้าผ่านด่านชายแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เป็นทางหลักแล้ว ยังได้เจรจากับทางการลาวเพื่อเปิดด่านชายแดนชั่วคราว หรือจุดผ่อนปรน ตามอำเภอต่างๆ ที่ติดกับชายแดนไทย-ลาวรวม 4 อำเภอ (บ้านแพง,ท่าอุเทน,เมือง,และธาตุพนม) เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อย ได้ค้าขายแลกเปลี่ยน แต่เป็นการเปิดช่องทางเพียงใช้การขนส่งสินค้าเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ประชาชน นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามไปมาได้
ประกอบด้วยด่านจุดผ่อนปรน อ.บ้านแพง(ตรงข้ามแขวงบอลิคำไซ),อ.ท่าอุเทน,ท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม(ตรงข้ามแขวงคำม่วน),จุดผ่อนปรนบ้านหนาด อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม (ตรงข้ามแขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งหากสามารถเจรจาเปิดจุดการค้าชายแดนเพิ่ม เชื่อว่าจะสามารถ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงระบายสินค้าได้อีกระดับหนึ่ง ที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนได้อีก คาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2565 จะสามารถเปิดได้บางจุด โดยทางศุลกากรพร้อมที่จะดูแลวางแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ทุกขั้นตอนต้องผ่านการหารือระหว่างหน่วยงาน กับทางการ สปป.ลาวด้วย
เทพพนมข่าวร้อน/หลาวเหล็ก/รายงาน