ข่าวใหม่อัพเดท » สหกรณ์ฯ ร่วมปศุสัตว์นครพนม อบรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเลี้ยงโค-กระบือ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สหกรณ์ฯ ร่วมปศุสัตว์นครพนม อบรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเลี้ยงโค-กระบือ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

8 มิถุนายน 2022
0

สหกรณ์ฯ ร่วมปศุสัตว์นครพนม อบรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเลี้ยงโค-กระบือ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ สหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด บ้านโสกแมว หมู่ 2 ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายอร่าม สุวรรณมาโจ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนิคม เข็มปัญญา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานฯ กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 ได้ดำเนินการจัดอบรม “การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร (การเลี้ยงโค – กระบือ)” ให้กับสมาชิกเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินในพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงหมู เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ภายใต้โครงการจัดที่ดินตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 25 ราย

ในการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติวิทยากรจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม โดยให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการฟาร์ม การจัดการด้านอาหารเพื่อลดต้นทุน และการดูแลรักษาป้องกันปัญหาโรคระบาดในสัตว์ เป็นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความอยู่ดี กินดี มีสันติสุข และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน

ทั้งนี้ โค กระบือ เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทย ในอดีตเกษตรกรใช้โค กระบือเป็นแรงงานในการท่าอาชีพเกษตรกรรม การขนส่ง หรือในชุมชนบางแห่งยังใช้โคและกระบือเป็นกิจกรรมบันเทิง เกมกีฬา หรือประกวดแข่งขัน เช่น ประเพณีวิ่งควาย (buffalo racing festival) วัวและควายชน (fighting bull) และการประกวดโคและกระบือพ่อ แม่พันธุ์ รวมทั้งการท่องเที่ยงเชิงเกษตร (agrotourism) ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงการผลิตโคเนื้อที่เชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรในประเทศไทย การเลี้ยงโค กระบือเปรียบเสมือนเป็นเงินออมหรือเงินฝากของครัวเรือนเกษตรกร นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ คือ มูล น่าไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของพืชได้อีกด้วย

การเลี้ยงโค กระบือของประเทศไทยในปัจจุบันได้ขยายตัวไปมาก ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นอาชีพเสริม และเป็นระบบการเลี้ยงเสริมการเพาะปลูกพืช ส่วนการผลิตโค กระบือเพื่อขุนเป็นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณเนื้อโคก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการขยายตัวและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ต่างมีส่วนผลักดันให้ความต้องการอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีสูงขึ้น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้มีการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโค กระบือให้มีมาตรฐานสูงขึ้นแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติในการดูแลรักษาโค กระบือได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรได้อีกด้วย


หลาวเหล็ก รายงาน

error: Content is protected !!