สวทช. จับมือ SUMMIT สานต่อความร่วมมือวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบ
และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยกระดับมาตรฐานการผลิต ลดการนำเข้า และพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ (สวทช.), ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.), คุณกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด และคุณอุณรุธ ปรารมภ์ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด ในโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ด้วยจุดแข็งในหลายๆ ด้าน ทั้งความพร้อมและศักยภาพของผู้ประกอบการ ความได้เปรียบในเรื่องของแรงงาน ตลอดจนนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยช่วงเวลานี้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรม ตัวอย่างเช่น การพัฒนาการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนกลุ่มน้ำหนักเบา หรือ Light Weight ด้วยวัสดุทดแทนต่างๆ/เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่/และการพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง (สวทช.) และ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ ดี เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐและเอกชนได้ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ลดการนำเข้าหรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ผ่านศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนายานยนต์ของนักวิจัยไทย ทั้งด้านเทคโนโลยีการออกแบบและกระบวนการผลิตโดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย”
คุณกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัทซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งมีบริษัทในเครือ 20 กว่าบริษัท โดยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปั้มขึ้นรูปโลหะส่งมอบให้กับผู้ประกอบรถยนต์ทุกยี่ห้อที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จึงจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ในการออกแบบยานยนต์ ด้านวัสดุศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีการผลิตและการทดสอบ ซึ่งบริษัทได้รับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาถึง 10 ปี โดยมีความร่วมมือด้านงานวิจัยหลายโครงการที่ช่วยสร้างมูลค่าผลกระทบให้แก่บริษัทได้จำนวนมาก เช่น
- โครงการร่วมวิจัย จำนวน 11 โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 9 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยอีก 2 โครงการ โดยมีงบประมาณการลงทุนด้านการวิจัยกว่า 4.3 ล้านบาท
- โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งบริษัทได้ผ่านการรับรองโครงการจาก (สวทช.) ในปี 2554 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 26 โครงการ งบประมาณรวม 202 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาชิ้นงานกลุ่มมีน้ำหนักเบา (Light Weight) ชิ้นงาน Stay Side Step หรือ ขายึดจับบันไดข้าง ซึ่งบริษัทได้ทำวิจัยร่วมกับศูนย์เอ็มเทค (สวทช.) ในการผลิตชิ้นงานต้นแบบที่สามารถช่วยลดน้ำหนักชิ้นงานลงได้ถึง 24% ซึ่งเกินความคาดหวังที่บริษัทตั้งไว้ลดลง 20%
คุณกรกฤชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยนี้ ถือเป็นหนึ่งในแรงกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัท เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าให้ออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการต่างๆ ระหว่าง (สวทช.) กับ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด ภายใต้การดำเนินการวิจัยและพัฒนากับทีมวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) (สวทช.) ที่ผ่านมามีโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน จำนวน 7 โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 5 โครงการ ได้แก่
- การศึกษาสมบัติของวัสดุและตัวแปรในกระบวนการรีดขึ้นรูปเหล็กแผ่นด้วยเทคนิคการจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์เพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์
- การพัฒนาระเบียบวิธีเชิงปฏิบัติสำหรับการออกแบบและปรับแต่งแม่พิมพ์ ในการปั๊มขึ้นรูปเหล็กแผ่นความแข็งแรงสูงมุ่งเน้นเพื่อลดการเกิดปัญหาการดีดตัวกลับ เหล็ก 780 Mpa.
- การปรับปรุงการออกแบบโครงสร้างแม่พิมพ์เพื่อแก้ปัญหาการโก่งตัวของโครงสร้างแม่พิมพ์
- การประยุกต์ใช้ Design Guideline และ Simulation Technique ในการออกแบบชุดลูกรีดสำหรับกระบวนการรีดขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์
- โครงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาความสามารถในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วน STAY SIDE STEP สำหรับรถกระบะด้วยวัสดุทดแทน
ทั้งนี้ ยังมีโครงการวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ การศึกษากระบวน การเชื่อมแบบ Laser Welding และโครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์จากพลาสติกที่เสริมแรงด้วยเส้นใยคาร์บอนและจากความร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้ ช่วยยกระดับศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวไกลได้ต่อไปภายใต้ความเป็นคนไทย เป็นบริษัทของคนไทย สร้างความเติบโตให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นอกจากโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือกับเอ็มเทค สวทช.แล้ว ยังมีความร่วมมือผ่านกลไกการสนับสนุนจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โดยโครงการไอแทปจำนวน 7 โครงการ และบริษัทฯ ได้ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อ (สวทช.) ตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน และผ่านการพิจารณาแล้ว 26 โครงการ โดยบริษัทฯ สามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามระเบียบของกรมสรรพากรได้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน