ข่าวใหม่อัพเดท » “เขื่อนป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง” รัฐต้องฟังเสียงประชาชน

“เขื่อนป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง” รัฐต้องฟังเสียงประชาชน

17 มิถุนายน 2022
0

ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.จ.นครศรีฯ เขต 2 (อ.ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่) แถลงข่าวการประชุม กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.65 คณะกมธ. ได้พิจารณางบประมาณ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน่วยงานที่น่าสนใจ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวนงบประมาณ 1,349,259,000 บาท

โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะของคลื่นบริเวณชายฝั่งทะเล และหน่วยงานใช้งบลงทุนถึง 41% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนพอสมควรในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขณะที่การแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งนั้น หน่วยงานมีแนวคิดว่า การใช้เขื่อนโครงสร้างแข็งหรือทำจากคอนกรีต ไม่สามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ แนวคิดดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปากพนัง และหัวไทร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหานี้มาอย่างยาวนาน และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งแก้ไข

ดังนั้น กมธ.บางท่าน จึงเสนอให้หน่วยงานรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนจัดสร้างโครงสร้างแข็งที่เป็นคอนกรีตมากมายเพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างโครงสร้างแข็ง ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น ขณะเดียวกันหน่วยงานควรที่จะดำเนินการแบบบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องโครงการดังกล่าว เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานในจังหวัด

ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตอบข้อซักถามต่อเรื่องนี้ โดยยืนยันการให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และไม่สู้ไม่ฝืนธรรมชาติ เช่น การถอยร่น หรือการปักไม้ไผ่เพื่อให้เป็นกำแพงธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จำเป็นที่จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยจะมีคณะทำงานเป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง ก่อนมีการเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ

ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการเสนอโครงการเข้ามาพิจารณาทั้งหมด จำนวน 64 โครงการ ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 17 โครงการ และได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7 โครงการ

ด้านปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการเสนอโครงการเข้ามาจำนวน 68 โครงการ โดยได้รับความเห็นชอบจำนวน 17 โครงการ

จากกรณีดังกล่าว สิ่งที่หน่วยงานควรคำนึงถึงคือการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการ หน่วยงานในจังหวัด โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลักสำคัญ ร่วมกับการศึกษาผลกระทบ และลักษณะภูมิศาสตร์ ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของประชาชน

ดรชัย #สัณหพจน์สุขศรีเมือง #เขื่อนป้องกันคลื่น #คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง #งบปี66 #คนลุ่มน้ำปากพนัง #ชัยชวนคิด #จะตอบแทนพี่น้องด้วยผลงาน


error: Content is protected !!