สวทช. นำทัพนักวิจัยหญิงและผลงานวิจัยร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (GSW 2022) แสดงศักยภาพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความสัมพันธ์และเครือข่าย หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ กรุงเทพฯ : ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทัพนักวิจัยหญิง และผลงานวิจัยของ (สวทช.) เข้าร่วมงานการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (Global Summit of Women 2022 : GSW2022) ครั้งที่ 31 จัดขึ้นในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “Women: Creating Opportunities in the New Reality” โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน ซึ่งงานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คนจากกว่า 50 ประเทศ การประชุมดังกล่าวจะเป็นการประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ครั้งแรกที่จัดขึ้นแบบพบปะ (face-to-face) ในรอบ 2 ปี ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบปะแลกเปลี่ยนและกระทบไหล่กับ CEO จากทุกแวดวงทั่วโลก เป็นโอกาสได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจ การทำงาน การทำวิจัย การแก้ปัญหาเพื่อก้าวข้ามวิกฤต การสร้างทีม การสร้างแรงบันดาลใจ
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “งาน Global Summit of Women 2022 จัดขึ้นในรูปแบบ Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน นั่นคือ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมต่างๆ ต้องเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งทางผู้จัดงานได้รังสรรค์กิจกรรมต่างๆ ให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และจะได้รับคาร์บอนเครดิตจากสปอนเซอร์ (บริษัท มิตรผล จำกัด) มาใส่กลับคืนให้การจัดงานนี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมไปถึงการพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
สำหรับในงานนี้ (สวทช.) ได้นำทัพนักวิจัยหญิงมาร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจ การทำงาน การทำวิจัย การแก้ปัญหาเพื่อก้าวข้ามวิกฤต การสร้างทีม การสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์และเครือข่าย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้นำผลงานวิจัยของ นาโนเทค-(สวทช.) และบริษัทที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก (สวทช.) นำมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ณ บูท B5 ซึ่งประกอบด้วย อนุภาคนาโนสารสกัดใบหมี่และบัวบก สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม (Litzella: Litzea glutinosa and Centella asiatica nanoparticle for haircare products),เซนเทลล่า มอยซ์เจอร์ไรซิ่ง เฟเชียล เซรั่ม (Centella Moisturizing Facial Serum),เซนเทลล่า แฮนด์ ครีม (Centella Hand cream),เอมบลิก้า เฟเชียล เซรั่ม (EmbLIca Facial serum),เอมบลิก้า แฮนด์ ครีม (EmbLIca Hand cream),เอมบลิก้า ไฮโดร ลิฟติ้ง สลิฟปิ้ง มาร์ก (Emblica Hydro Lifting SLEEPING mask),เซนเทลล่า ไฮโดร ลิฟติ้ง สลิฟปิ้ง มาร์ก (Centella Hydro Lifting Sleeping Mask),เซนเทลล่า ฟุต ครีม (Centella Foot Cream) และเฮิร์บล็อค เอ็มบลิก้า เอ็นแคปซูเลชั่น แอนไท-เอจจิ้ง เฟเชียล เซรั่ม (HERBLOC Emblica Encapsulation Anti-Aging Facial Serum) ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากนักวิจัยหญิงไทยต่อผู้นำสตรีจากทั่วโลก ถึงศักยภาพนักวิจัยหญิงไทย” ดร.จุฬารัตน์ฯ กล่าวเสริม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน