วช. เชิดชู รศ.ดร.วธนน์ฯ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 จากแนวคิด “เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต Blockchain”
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2565 ครั้งที่ 8 เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนแนวคิด “เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต Blockchain” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดงานฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) กิจกรรม “NRCT Talk นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 8” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่างๆ โดยในปีนี้ (วช.) ได้มอบรางวัลให้กับ รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ฯ ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม ด้าน IT เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากเพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่การดำเนินงานต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้กับองค์กรในการพัฒนากระบวนการธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน (Blockchain) และ IoT” บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการร่วมกับกลไกโดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบบล็อกเชนนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแก้ไขได้ ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีความโปร่งใสเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถสร้างระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง และ IoT หรือ Internet of Things การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะสามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนากระบวนการธุรกิจให้เป็นแบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย มีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น รวดเร็ว และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการบริการในอนาคต การต่อยอดความรู้ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี บล็อกเชนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน บริการทางการเงินและยังพัฒนาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความสะดวกสบาย ปลอดภัย รวดเร็ว และลดต้นทุน รองรับกับเทคโนโลยีต่างๆ ในโลกอนาคตก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนา สังคม เศรษฐกิจ ของประเทศต่อไป
ทั้งนี้สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ (วช.) เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ (วช.) ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน