วช. ห่วงใยสังคม ดัน “การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม” เมืองสีเขียว
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดอบรมระยะสั้น หลักสูตร “การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม”ภายใต้โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจทิศทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เชื่อมโยงกับทิศทางของประชาคมโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2565 ผ่านระบบ zoom meeting
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วันนี้ เป็นหลักสูตร หลักสูตรที่ 2 “การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม” ของโครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตร โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมแก่นักวิจัยให้มีความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับทิศทางของทั้งในระดับภูมิภาค ระดับนานาประเทศ และยังเป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาการวิจัยและมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วช.) ให้ความสำคัญในการสร้างและการพัฒนาองค์ความรู้ลักษณะรูปแบบบูรณาการ ตลอดจนนโยบายและแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อออกแบบงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ จึงได้มีการดำเนินการร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สร้างความรู้ความเข้าใจด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ปัญหา และความต้องการงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า หลักสูตรในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นหลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจาก มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ ขยะมูลฝอย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติที่เชื่อมโยงกับแผนต่างๆ ของประเทศและของโลก หน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องการงานวิจัยเข้าไปเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตามภารกิจของหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทีมนักวิจัยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกัน และในอนาคตจะมีการสานต่อองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อันจะนำไปสู่แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยการบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร ประกอบด้วย
1) หลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2) หลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม
3) หลักสูตรการวิจัยด้านสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) หลักสูตรการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
5) หลักสูตรการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ
6) หลักสูตรการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
โดยจัดผ่านระบบ zoom meeting ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2565 อบรมหลักสูตรละ 3 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรและนักวิชาการชั้นนำเกี่ยวกับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในระดับต่างๆ เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัยงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ได้รับการยอมรับในระดับเชิงพื้นที่สู่ระดับสากลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน