ข่าวใหม่อัพเดท » กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผลสุดยอด 17 คลิปวิดีโอ ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผลสุดยอด 17 คลิปวิดีโอ ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น

19 กรกฎาคม 2022
0

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผลสุดยอด 17 คลิปวิดีโอส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ชิงเงินรางวัลรวม 380,000 บาท

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 : นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวผลการประกวดสื่อสร้างสรรค์สําหรับเด็กและเยาวชนในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ภายใต้โครงการ สร้างสรรค์ไทย (Creative Thai) เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยการถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านรูปแบบการผลิตคลิปวิดีโอโดยใช้โทรศัพท์มือถือ โดยผลงานเรื่อง “หล่นลงในดงใจ” จาก นางสาวพิชามญชุ์ ธวัลรัตน์ ตัวแทนผลงานจากจังหวัด ชลบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมโล่เกียรติคุณและเงินรางวัล 50,000 บาทไปครอง นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัล, รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 4 รางวัล,รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล และรางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัล รวมทั้งหมด 18 รางวัล เงินรางวัลรวม 380,000 บาท

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกันจัดตั้งโครงการ สร้างสรรค์ไทย (Creative Thai) ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการนําต้นทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่มาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากชุมชนผ่านสื่อดิจิทัล รวมทั้งเป็นการใช้สื่อในการปรับค่านิยม จิตสํานึก ให้แก่คนในสังคมให้ตระหนักถึงความสําคัญของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรริเริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมทางความคิดที่ดีงาม ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเยาวชน จึงเกิดโครงการนำร่องในการจัดประกวดสื่อสร้างสรรค์สําหรับเด็กและเยาวชน ในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ภายใต้โครงการ สร้างสรรค์ไทย (Creative Thai) ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ของเด็กเเละเยาวชนที่สําคัญอีกหนึ่งโครงการ ตามนโยบายของรัฐบาล
ที่ให้ความสําคัญในการนําอํานาจละมุน (Soft Power) มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรมด้านส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก

โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดประกวดคลิปโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการถ่ายทํา และตัดต่อคลิปวีดีโอ เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย เด็ก และเยาวชน (อายุไม่เกิน 25 ปี) จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าประกวดชิงเงินรางวัลรวม 380,000 บาท พร้อมโล่รางวัล จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยโครงการฯ เริ่มเปิดรับสมัครในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 และปิดรับผลงานไปแล้วในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

การจัดการประกวดครั้งนี้ได้มีการจัดทําหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้ผู้เข้าสมัครมีความเข้าใจกระบวนการ เเละวิธีการที่ถูกต้องในการผลิตสื่อวิดีทัศน์ (คลิปวีดิโอ) เพื่อเข้าร่วมเเข่งขันทั้งหมด 5 หลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรมีความยาวประมาณ 15 นาที ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดสามารถศึกษาเรียนรู้หลักสูตร ออนไลน์ ที่โครงการฯได้จัดทําขึ้น เมื่อเรียนจบสามารถนําองค์ความรู้มาใช้ผลิตผลงานได้ พร้อมยังจัดทําระบบในการสมัคร เเละการคัดเลือก โดยการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Web Application เข้ามาใช้จัดการระบบ การประกวดเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมยุค Next Normal ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาระบบ หลากหลายด้าน ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Thailand 4.0

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเสริมว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ มีพันธกิจที่สนับสนุน และส่งเสริมในการกระตุ้นให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อทลายกรอบการผลิตเนื้อหาแบบเดิมๆ เพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และนําเสนอข้อมูลในมิติที่คนต้องการเพื่อการเล่าเรื่องที่รอบด้านหลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงเเละเข้าใจ เเละสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อที่ดีได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการผลักดันส่งเสริมให้เด็กเเละเยาวชนมีทักษะเเละรู้เท่าทันสื่อ สามารถนําองค์ความรู้ต่างๆ มาผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ยกระดับเเละเพิ่มมูลค่าสื่อในสังคม

นอกจากนี้ นายธนกรฯ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการว่า โครงการ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” มีกลุ่มเป้าหมายตอบรับเเละสมัครเข้าร่วมส่งผลงานอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าศึกษาข้อมูลผ่านระบบจำนวน 2,539 คน สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,595 คน และส่งผลงานเข้าชิงรางวัลจำนวน 950 ผลงานจากทั่วประเทศ ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาแบ่งเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ความเข้าใจและความถูกต้องของเนื้อหาตามวัตถุประสงค์โครงการ 30 คะแนน การสร้างสรรค์วัฒนธรรมในมุมมองสร้างสรรค์ 20 คะแนน การนําเสนอเนื้อหาการเขียนบทและการลําดับเรื่องให้น่าสนใจ 20 คะแนน เทคนิคและคุณภาพการถ่ายทําที่สร้างสรรค์สมบูรณ์ 15 คะแนน การตัดต่อผลงานนําเสนออย่างสร้างสรรค์ลงตัวกับเนื้อหา 15 คะแนน รวมคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน

โดยการคัดเลือกผลงานจะถูกคัดเลือกในระดับจังหวัด สู่การคัดเลือกในระดับประเทศ ทั้งสิ้น 17 ผลงาน เเละมีรางวัลมหาชนจากการโหวตที่ทางโครงการฯ ได้ประชาสัมพันธ์เฟ้นหา อีก 1 รางวัล รวมทั้งสิ้น 18 รางวัล พร้อมรับโล่รางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้าง สรรค์ โดยมีรายละเอียดรางวัลดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัลฯละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ผลงานชื่อ “หล่นลงในดงใจ” จังหวัดชลบุรี โดย นางสาวพิชามญชุ์ ธวัลรัตน์โภคิน
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัลฯ ละ 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
    • 1.ผลงานชื่อ “ต๋าแหลว” ที่ยึดเหนี่ยวของชาวแม่จริมที่ยังคงอยู่ จังหวัด น่าน โดย นายณัฐภัทร บุญทิพย์
    • 2.ผลงานชื่อ “สืบชะตา” จังหวัด เชียงใหม่ โดย นายอติกันต์ แสงศรีจันทร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 4 รางวัลฯละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
    • 1.ผลงานชื่อ “หอมเคย” จังหวัด นครศรีธรรมราช โดย นายธนชาติ ใจหล่อ
    • 2.ผลงานชื่อ “เสาเล้าเสารู้” จังหวัด ขอนแก่น โดย นางสาวนชกมล เหล่าสพาน
    • 3.ผลงานชื่อ “L. A. ที่บ้านเรา” จังหวัด ร้ออยเอ็ด โดย นายศุภวุฒิ นาเมืองรักษ์
    • 4.ผลงานชื่อ “CD ไทใหญ่ ถัวเน่าแผ่น” จังหวัด แม่ฮ่องสอน โดย นายสิรธีร์ บุญทา
  • รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัลฯละ 10,000 บามพร้อมโล่รางวัล ได้แก่
    • 1.ผลงานชื่อ “ต้นตํารับแห่งขนมไทย” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย นาย แม็กซ์ อิมโมเนน
    • 2.ผลงานชื่อ “Miracle of Culture มหัศจรรย์แห่งวัฒนธรรม2ศาสนา” จังหวัด สงขลา โดย นายศิริโชค สังคะโต
    • 3.ผลงานชื่อ “ห้อมฮ้อมฮัก” จังหวัด แพร่ โดย นายเตชิต สุขวัฒนานนท์
    • 4.ผลงานชื่อ 101 เมืองที่ไม่ได้มีดีแค่ “หอโหวด” จังหวัดร้อยเอ็ด โดย นายญาณพัฒน์ บุภักดี
    • 5.ผลงานชื่อ “เพลงบอกหัวไทร” จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนางสาวกิ่งกาญจนา เทพแก้ว
    • 6.ผลงานชื่อ “ไหว้ครูหมอหนังฝังความรักวัฒนธรรม” จังหวัด พัทลุง โดย เด็กชายณัฐนนท์ ปานสง
    • 7.ผลงานชื่อ “1 Day Trip ลูกประคบบางกระเจ้ามีดีอะไร” จังหวัด สมุทรปราการ โดย โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
    • 8.ผลงานชื่อ “เสียงเรียกหาเมืองลับแล” จังหวัด อุตรดิตถ์ โดย นายไตรภพ คําเบ้า
    • 9.ผลงานชื่อ “Ku Bua Culture” จังหวัด ราชบุรี โดยนางสาวธนพร นราเก
    • 10.ผลงานชื่อ” สืบสานInnovation จังหวัดอุดรธานี โดย นายเมธิชัย สุภโตษะ
  • และ รางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัลฯละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ผลงานชื่อ “สืบสานInnovation” จังหวัดอุดรธานี โดย นายเมธิชัย สุภโตษะ

กิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ในโครงการสร้างสรรค์ไทยในครั้งนี้ จะเป็นอีกเสียงสะท้อนทางความคิดของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่จะบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นของตนในรูปแบบสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เเละเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ของ วิถีชีวิตในชุมชน ประเพณีและวัฒนธรรม วิถีชีวิตในท้องถิ่น และจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในการปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนและสังคมอีกด้วย รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริม เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป โดยงานมอบรางวัลของ โครงการฯ ในครั้งนี้เป็นการมอบเกียรติคุณทางองค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย ที่มีส่วนร่วมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงาม ต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด เผยเเพร่สู่สาธารณะเป็นการเพิ่มมูลค่าเชิงวัฒนธรรมอย่างดี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวสรุป

โดยสามารถรับชมผลงานการผลิตคลิปวิดีโอส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์ วัฒนธรรม” จากเยาวชนคนครีเอทีฟได้ที่ และเฟซบุ๊กเพจ : สร้างสรรค์ไทย และติดตามข่าวสารและกิจกรรมประกวดต่างๆ ของโครงการ สร้างสรรค์ไทย (Creative Thai) ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเฟซบุ๊กเพจ: สร้างสรรค์ไทย หรือเพิ่มเพื่อนผ่านไลน์แอด: @creativetha


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!