กรมชลประทาน จัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม “โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จ.เพชรบุรี”
วันที่ 26 ก.ค.65 ที่องค์การบริหารส่วน จังหวัดเพชรบุรี : นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อเกิดฝนตกหนักเกิน 230 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง จะเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีประสบอุทกภัยเป็นประจำทุกปี “โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี” จะเป็นการแก้ไข
และบรรเทาอุทกภัยพื้นน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เขตอำเภอท่ายาง,อำเภอบ้านลาด,อำเภอชะอำ,อำเภอเมืองเพชรบุรี,อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม ซึ่งตามแผนการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมของกรมชลประทาน จะใช้รอบปีการเกิดซ้ำของน้ำหลากที่ 25 ปี เท่ากับ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังต่อไปนี้
- ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว)
- ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ปริมาณน้ำอีก 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะถูกควบคุมโดยอาคารที่ถูกก่อสร้างในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน อย่างไรก็ตาม การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล เพื่อป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ระบบนิเวศ และการไหลวนของกระแสน้ำ กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่ โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องการออกแบบเชิงหลักการ D1 การออกแบบเชิงหลักการของคลอง D1 ประกอบด้วย 7 รายการ ดังต่อไปนี้
- เปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเล ยื่นเข้าไปในทะเลจากปากคลองระบายน้ำสาย D1 มีความกว้าง 45 เมตร ยาว 280 เมตร ลึก 5 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำอย่างน้อย 1V : 5H เพื่อให้ระบายน้ำ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ออกแบบให้ตอบสนองกับประตูควบคุมน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนหินทิ้ง เนื่องจากก่อสร้างง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ดูดซับพลังงานคลื่นดีที่สุด และลดการสะท้อนของคลื่น
- การก่อสร้างประตูควบคุมน้ำ ออกแบบเพื่อให้ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยออกแบบ ให้มีประตูควบคุมน้ำ 5 บาน กว้างบานละ 8 เมตร มีอัตราการไหลของน้ำ (Qd) เท่ากับ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- สร้างคลองตัวยู เป็นคลองดาดคอนกรีต เพื่อช่วยลดค่าความขรุขระ และเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ มีความกว้าง 33 เมตร ลึก 5 เมตร และมีระยะพ้นน้ำ (Freeboard) 2.0 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้การบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายน้ำมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาน้ำหลากท่วมในพื้นที่ตำบลบางเก่าได้
- ก่อสร้างคันคลองตัวยูเป็นถนน 2 เลน กว้าง ประมาณ 8 เมตร พร้อมไหล่ทาง ตลอดความยาวประมาณ 25 กม. ทั้ง 2 ฝั่งคลอง ทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากถนนดังกล่าว ในการท่องเที่ยว ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมพักผ่อนอื่นๆ บริเวณที่มีการปรับภูมิทัศน์ และชายหาดที่สวยงา
- ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ออกแบบให้เป็นที่พักผ่อน สันทนาการ และออกกำลังกาย
- ระบบสูบน้ำ ออกแบบให้เป็นระบบสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (Mobile Pump) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ในกรณีที่ในพื้นที่ไม่สามารถระบายได้ทัน
จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 12,434 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำ ปีละประมาณ 9.0 ล้านบาท
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คลองระบายน้ำ D1 ในระยะก่อสร้างที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 10 ประเด็น คือ ลักษณะภูมิประเทศ, ทรัพยากรดิน, สมุทรศาสตร์, ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง, อุทกวิทยาและการระบายน้ำ, คุณภาพน้ำผิวดิน แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน, การคมนาคมขนส่งทางบก, เศรษฐกิจ–สังคม, และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 1 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) คือ เศรษฐกิจ–สังคม
การออกแบบเชิงหลักการด้านท้ายน้ำคลอง D9 เพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง คลอง D9 การออกแบบเชิงหลักการของคลอง D9 แบ่งออกได้เป็น 10 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
- การเปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเล ยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อให้ระบายน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยออกแบบให้ร่องน้ำ มีความกว้าง 25 เมตร ยาว 500 เมตร ลึก 3 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำ อย่างน้อย 1V : 5H
- เขื่อนกันคลื่น (พนังกันปากคลอง) ออกแบบให้ตอบสนองกับประตูควบคุมน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนหินทิ้ง ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ของคลอง ความยาวข้างละประมาณ 120 เมตร สาเหตุที่เลือกใช้เขื่อนหินทิ้ง เนื่องจากก่อสร้างง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด สามารถดูดซับพลังงานคลื่นดีที่สุด และช่วยลดการสะท้อนของคลื่น
- ขุดเปิดร่องน้ำเดิม ทำการขุดตะกอนดินที่ทับถมร่องน้ำในอดีต (ก่อนปี พ.ศ.2558) คลอง D9 ได้ไหลออกตรงสู่ทะเลในเส้นทางด้านทิศใต้ โดยตะกอนที่ได้จากการขุดลอก นำไปเสริมหาดในบริเวณที่กัดเซาะทางด้านใต้ของเขื่อนกันคลื่น และนำไปเสริมหาดบริเวณกัดเซาะทางด้านเหนือ อีก 1 กม.
- เสริมหาด (Beach Nourishment) บริเวณกัดเซาะ พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร โดยจะใช้ตะกอนทราย จำนวน 30,000 ลูกบาศก์เมตร ที่ได้จากการขุดลอกเปิดร่องน้ำในอดีต มาเสริมชายหาดที่กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
- ทำคันคลองเป็นถนน เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวจราจร 6 เมตร และมีไหล่ทาง 2 เมตร ความยาว ประมาณ 1.02 กิโลเมตร ทั้ง 2 ฝั่งคลอง เพื่อประโยชน์การเดินทางของประชาชนบริเวณดังกล่าว
- สร้างคลองตัวยู เป็นคลองดาดคอนกรีต เพื่อช่วยลดค่าความขรุขระ และเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ ความยาว ประมาณ 1.02 กิโลเมตร มีความกว้าง 25 เมตร สูง 3 เมตร และมีระยะพ้นน้ำ (Freeboard) 2.0 เมตร สามารถระบายน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ออกแบบให้เป็นที่พักผ่อน สันทนาการ ออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยว
- สูบน้ำหลากจากชุมชน โดยออกแบบเป็นเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (Mobile Pump) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่
- ที่จอดเรือ ซึ่งเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่สำคัญของพี่น้องชาวประมง โดยทำการขุดลอกบริเวณปากคลองเดิม เพื่อทำเป็นที่จอดเรือ พื้นที่ ประมาณ 12,000 ตารางเมตร (ประมาณ 7.5 ไร่) และนำตะกอนไปเสริมหาดบริเวณที่มีการกัดเซาะทางด้านเหนือได้
- ทำสะพานท่องเที่ยวข้ามคลองที่ขุดร่องน้ำเดิม เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับให้คนเดิน กว้างประมาณ 5 เมตร ความยาวสะพานประมาณ 25 เมตร เพื่อเป็นการเชื่อมพื้นที่ทั้งฝั่งตำบลปึกเตียนกับตำบลหนองขนาน ซึ่งในอนาคตท้องถิ่นสามารถพัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนที่ต่อเนื่องจากการทำประมง การทำเกษตรกรรม ในพื้นที่ รวมทั้งสถานที่พักผ่อน ออกกำลังหรือดำเนินกิจกรรมของชุมชนได้ นอกจากนี้ในอนาคตเรือประมงสามารถเข้าออกทางสะพานท่องเที่ยวนี้ได้ ทำให้เรือประมงสามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น
จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 718 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านใต้ ปีละประมาณ 7.2 ล้านบาท และค่าขุดลอกรักษาพื้นที่จอดเรือปากคลองด้านเหนือ ปีละประมาณ 5.76 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 12.96 ล้านบาทต่อปี
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างด้านท้ายของ คลอง D9 มีผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 7 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์, ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง, อุทกวิทยาและการระบายน้ำ, คุณภาพน้ำผิวดิน, คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง, แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน, และเศรษฐกิจ–สังคม ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือเศรษฐกิจ–สังคม และด้านสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว
การออกแบบเชิงหลักการของผังแม่บทบริเวณคลอง D18 แบ่งได้เป็น 6 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
- การเปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเลยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อให้ระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยออกแบบให้ร่องน้ำ คลอง D18 มีความกว้าง 30 เมตร ยาว 500 เมตร ลึก 3 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำเท่ากับ 1V : 5H
- สร้างคลองเข็มพืด เนื่องจากบริเวณท้ายน้ำของคลอง D18 มีพื้นที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องสร้างคลองเข็มพืด ระยะทางประมาณ 2.84 กม. และทำการตอกเข็มพืดโดยใช้เครื่องจักรในเรือบาร์จ หลังจากนั้นจึงทำการขุดลอกคลอง และนำตะกอนที่ขุดมาทิ้งบริเวณหลังแนวเข็มพืด
- ปลูกป่าชายเลน บนกองดินตะกอน ที่บริเวณปากคลอง D18 หลังแนวเข็มพืด พื้นที่ประมาณ 12,500 ตารางเมตร (ประมาณ 7.8 ไร่)
- ปรับปรุงพื้นที่จอดเรือ บริเวณท่าเรือแหลมผักเบี้ย พื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร (ประมาณ 25 ไร่) เพื่อให้จอดเรือได้ จำนวน 120 ลำ
- ปรับปรุงประตูควบคุมน้ำ บริเวณถนนคันกั้นน้ำเค็ม เพื่อให้ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริเวณคลอง D18 มีการทำนาข้าว นาเกลือ และการเลี้ยงสาหร่ายโดยออกแบบให้ประตูควบคุมน้ำ 3 บาน กว้างบานละ 8 เมตร เพื่อให้ระบายน้ำ (Qd) ได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 1,053 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านเหนือ ปีละประมาณ 20 ล้านบาท และค่าขุดลอกตะกอนตลอตลอดแนวคลองปีละ 8.5 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 20.85 ล้านบาทต่อปี
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างมีบางส่วนที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 8 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์, อุทกวิทยาและการระบายน้ำ, คุณภาพน้ำผิวดิน, คุณภาพน้ำทะเล, แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน, การคมนาคมขนส่งทางบก, เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ การคมนาคมขนส่งทางน้ำ และเศรษฐกิจ–สังคม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน