วช. ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผลักดันงานวิจัย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดอบรมระยะสั้น หลักสูตร “ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ” ภายใต้โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดฯ และมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้ (อว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ให้แก่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตร เพื่อการถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมแก่นักวิจัยนักวิชาการในทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินงานร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยจัดอบรมหลักสูตรทั้งหมด 6 หลักสูตร และได้จัดอบรมไปแล้ว 4 หลักสูตร คือ
1) “การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
2) “การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม”
3) “การวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และ
4) “การวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ”
ในวันนี้เป็นการอบรมหลักสูตรที่ 5 (EP5) “การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ” ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2565 ซึ่งหลักสูตรนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก มีผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงในระยะหลังประเทศไทยได้มีการยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการประกาศว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นการเสริมสร้างให้นักวิจัยเกิดความรู้ความเข้าใจถึงทิศทางการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่สอดคล้องกับประเด็นตามยุทธศาสตร์ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งในระดับพื้นที่และภาพรวมของประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร ประกอบด้วย
1) หลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2) หลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม
3) หลักสูตรการวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) หลักสูตรการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
5) หลักสูตรการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ
6) หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
โดยจัดผ่านระบบ zoom meeting ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2565 โดยอบรมหลักสูตรละ 3 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรและนักวิชาการชั้นนำเกี่ยวกับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในระดับต่างๆ เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัยงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ได้รับการยอมรับในระดับเชิงพื้นที่สู่ระดับสากลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน