หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พร้อมทูตญี่ปุ่น นำทัพเอกชนรายใหญ่กว่า 60 ราย
เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรม EECi จ.ระยอง
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ EECi อ.วังจันทร์ จ.ระยอง : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ Mr. Nashida Kazuya (นายนะชิดะ คะสุยะ) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Mr.Takeo Kato (นายทาเคโอะ คะโต้) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce Bangkok) นำภาคเอกชนญี่ปุ่นรายใหญ่กว่า 60 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อดูความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและแสวงหาความร่วมมือวิจัยและพัฒนาในอนาคต อาทิ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC)–โครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Automation, Robotics and Intelligent Electronics Platform) มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 เพื่อตอบสนองการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ โรงงานแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูง (Alternative Battery Pilot Plant)–พัฒนาแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงที่มีความปลอดภัย มีต้นทุนต่ำ
ทั้งยังมีบริการเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา อาทิ บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่และวัสดุขั้นสูง การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและคุณสมบัติแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และ Energy Storage System โรงเรือนฟีโนมิกส์ (Phenomics Facility) และโรงงานผลิตพืช (Plant Factory)-มีเป้าหมายเพื่อเป็น Solution Center ด้าน Plant Phenomics ครบวงจร มีบริการครอบคลุมที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการศึกษาสรีรวิทยาของพืชต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อการผลิตสารสำคัญสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงการทดลองเพื่อให้ได้ข้อมูลผลผลิต และวิธีการผลิตที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ รวมถึงสนับสนุนการสร้างบุคลากรด้านเกษตรสมัยใหม่ทั้งการให้คำปรึกษา และเป็นแหล่งฝึกอบรมทางเทคนิคอย่างครบวงจร
โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery Pilot Plant)–มีเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ทางการเกษตรจากการทำเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงของเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม แกลบ โดยสามารถนำไปผ่านกระบวนการทางชีวเคมีด้วยโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมกลุ่มสำนักงานใหญ่ EECi พร้อมกับกล่าวต้อนรับว่า “(สวทช.) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน EECi และร่วมสร้างผลงานวิจัยออกสู่ตลาดร่วมกัน (สวทช.) ยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมอย่าง EECi ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสะพานเชื่อม เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้งานประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ โดยสามารถขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนากระบวนการผลิตที่สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่มขึ้น ภาคเกษตรสามารถทำการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสร้างความเข้มแข็งเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม (สวทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแล EECi ซึ่งร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) วังจันทร์วัลเลย์ จะผนึกกำลังให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้อย่างแท้จริง (สวทช.) พร้อมแล้วที่จะเดินทางร่วมพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) เป็นเขตนวัตกรรมแห่งใหม่ชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC : Eastern Economic Corridor หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมสำคัญและขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายขนาดงานวิจัย (Translational Research) และการปรับแปลงเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย (Technology Localization) สามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานได้อย่างแท้จริง ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้น 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้
1.เกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture)
2.ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery)
3.แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ (Battery and Modern Transports)
4.ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Automation, Robotics and Intelligent Electronics)
5.การบิน (Aviation)
6.เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices)
ทั้งนี้ ผู้สนใจรายละเอียดสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://www.eeci.or.th/
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน