สุดแสนเสียดาย ! ถ้าไม่ล้มประมูลสายสีส้มครั้งที่ 1 จะมีเงินหลือ 6.8 หมื่นล้าน ? สร้างรถไฟฟ้าได้อีกสาย สบายๆ
ผลพวงจากการประมูลหาเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออกซึ่งต้องประมูลถึง 2 ครั้ง อาจทำให้ รฟม. ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน เงินจำนวนมหาศาลนี้ซึ่งเป็นภาษีของพวกเราสามารถนำไปสร้างรถไฟฟ้าได้อีกสายอย่างสบายๆ น่าเสียดายมั้ยครับ ?
1. เงินก้อนใหญ่ 6.8 หมื่นล้าน คิดมาได้อย่างไร ?
1.1 การประมูลครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน
การประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ (2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเร็วๆ นี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BTSC เสนอให้ รฟม. แล้ว (79,820.40-70,144.98) เงินสนับสนุนจำนวน 9,675.42 ล้านบาทนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM ทำให้ผู้ติดตามการประมูลแทบล้มทั้งยืน ! เพราะต่ำกว่ามาก
1.2 การประมูลครั้งที่ 2
หลังจากการประมูลครั้งที่ 1 ถูกล้มไปแล้ว รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) BEM และ (2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ อาจเป็นที่สงสัยว่าทำไมในการประมูลครั้งที่ 1 BTSC จึงสามารถหาผู้รับเหมาได้ แต่ครั้งที่ 2 กลับหาไม่ได้ ขอตอบว่า มีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1
ก่อนหน้าที่ BTSC จะเปิดซอง “ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน” ของตนเองนั้น รฟม. ได้เปิดซองดังกล่าวของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้ รฟม. แล้ว) และให้แก่ ITD Group จำนวน 102,635.66 ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ ITD Group เสนอให้ รฟม. แล้ว) ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนน้อยกว่านั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม รฟม. ไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้แก่ รฟม. และจำนวนเงินที่ BEM ขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. เพียงแต่เปิดเผยจำนวนเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนให้แก่ BEM หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้ รฟม. แล้วเท่านั้น
1.3 ส่วนต่างของเงินสนับสนุนจาก รฟม. ระหว่างการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2
กรณีไม่ล้มการประมูลครั้งที่ 1 อาจเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล ส่งผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนเพียง 9,675.42 ล้านบาทเท่านั้น แต่กรณีล้มการประมูลครั้งที่ 1 และเปิดการประมูลครั้งที่ 2 ทำให้ รฟม. ต้องให้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 78,287.95 ล้านบาท หรือให้เงินสนับสนุนมากขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาท (78,287.95-9,675.42)
2. เงินจำนวน 6.8 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้าได้ยาวแค่ไหน ?
เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ทั้งรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) และรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ประเภทรางเดี่ยวหรือโมโนเรล (Monorail) โดยรถไฟฟ้ารางหนักจะขนผู้โดยสารได้มากกว่ารถไฟฟ้าโมโนเรล พบว่า รฟม. ใช้เงินลงทุนในสายต่างๆ ดังนี้
(1) สายสีม่วงเหนือ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก ระยะทาง 23 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 62,902.96 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 2,735 ล้านบาท
(2) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 53,490 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,550 ล้านบาท
(3) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 51,810 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,704 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลืองรวมกัน (ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลเหมือนกัน) พบว่าใช้เงินลงทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,622 ล้านบาท
ดังนั้น เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุนค่าก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพิ่มขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาทนั้น สามารถนำไปสร้างรถไฟฟ้าได้เป็นระยะทางดังนี้
(1) กรณีรถไฟฟ้ารางหนักดังเช่นสายสีม่วงเหนือ จะสร้างได้เป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร
(2) กรณีรถไฟฟ้าโมโนเรลดังเช่นสายสีชมพูหรือสายสีเหลือง จะสร้างได้เป็นระยะทาง 42 กิโลเมตรรถไฟฟ้าระยะทางดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้ารางหนักหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการเดินทางให้พวกเราได้ไม่น้อย
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์