วช. ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ หนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เร่ง สร้างความรู้และบทเรียนการทำงานเครือข่ายนักวิจัย ใน 4 ภูมิภาค
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติจัดการประชุม เรื่อง “ร่วมสร้างความรู้และบทเรียนการทำงานเครือข่ายนักวิจัย CBR 64” เพื่อย้อนทวนเส้นทางการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนงาน CBR 63–65 เครือข่ายนักวิจัย ท้องถิ่น หรือ CBR ร่วมกันสรุปความรู้และบทเรียนจากการทำงาน CBR 64 และสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสานความสัมพันธ์ในเชิงเครือข่ายนักวิจัย CBR ระหว่างวันที่ 26–27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก (วช.) และผู้บริหารจากสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะทางวิชาการ รวมทั้งศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และนักวิจัยจาก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมประชุม รวมจำนวน 120 คน ผ่านระบบ onsite และ online
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) ในฐานะองค์กรสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล โดยมุ่งหวังว่าการจัดการประชุมจะนำไปสู่การทบทวนการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนงาน CBR ในช่วงปี 2563–2565 ซึ่งองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะพัฒนาไปสู่แนวทางการทำงาน CBR ในทศวรรษที่ 3 ที่มีคุณค่าและมีความหมายยิ่งต่อชุมชน สังคมที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“(วช.) ในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัย จึงขอส่งพลังใจให้การประชุมได้บรรลุตามเป้าหมาย และขอให้กระบวนการทำงาน CBR ช่วยเสริมสร้างให้เกิดประโยชน์และคุณูปการต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบต่อไป” นายเอนกฯ กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากนั้นคุณชีวัน ขันธรรม ทีม ODU (สถาบันคลังสมองของชาติ) ได้นำเสนอข้อมูลทบทวนการบริหารโครงการ CBR จากปี 63 สู่ 65 และผู้ประสานงานกลไกทั้ง 4 ภาค ได้ให้ข้อมูลภาพรวมของทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ โดย รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนากิจ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย คุณรุ่งวิชิต คำงาม ภาคกลาง โดย รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ และภาคใต้ โดย ดร.มายือนิง อิสอ และในช่วงท้ายมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นนักวิจัยทุกโครงการได้แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล และสรุปความรู้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้งาน CBR และนำเสนอผลการสรุปความรู้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้งาน CBR ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้แก่สถาบันคลังสมองของชาติ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น 4 ภูมิภาค จำนวนทั้งหมด 52 โครงการ ประกอบด้วย โครงการกลไกภาค 4 โครงการ และโครงการย่อย 48 โครงการ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- เศรษฐกิจฐานราก
- การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ และ
- การสร้างพลังชุมชน (Empowerment) โดยปัจจุบันโครงการ CBR ปี 2564 ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน