ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพัฒนาและส่งเสริมอาชีพในชุมชนของสำนักงาน กศน. จังหวัดลพบุรี พร้อมมอบจักรยานแก่ผู้แทนชุมชน บ้านบางขันหมากใต้ เพื่อเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระตุ้นการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน
ดร.กนกวรรณฯ กล่าวถึงการลงพื้นที่หมู่ 1 บ้านอัมพวัน องค์การบริหารส่วนตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.62 เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและฝึกอาชีพชุมชนของ กศน. จังหวัดลพบุรี ว่า “ชุมชนหมู่บ้านบางขันหมากใต้ ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพโดย กศน. มีการดำเนินงานพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานการดำเนินชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมของคนมอญบางขันหมากที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยต้นทุนวัตถุดิบและภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพผสมผสานกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญ นำสู่วิถีพอเพียงอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องและมีแผนในการพัฒนาเป็นอาชีพชุมชนท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนมีการกำหนดโปรแกรมท่องเที่ยวได้ครอบคลุมทั้งชุมชนภายใน 1 วัน”
“ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ได้รับทราบสภาพปัญหาว่า เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียงของที่นี่นั้นกระจายอยู่ในชุมชน นักท่องเที่ยวต้องใช้วิธีเดิน หรือขับขี่รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ในการท่องเที่ยวตามฐานการเรียนรู้แต่ละแห่ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน ทางชุมชนจึงได้เสนอปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนา
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของบ้านบางขันหมากใต้ ให้สามารถดำเนินการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อชมวิถีชีวิตและเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ต่างๆได้ตามอัธยาศัยในชุมชนอย่างครบวงจรและเหมาะสม ในโอกาสนี้จึงได้มอบรถจักรยานจำนวน 50 คัน เพื่อใช้ในการดำเนินการดังกล่าว และขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทำให้ชุมชนบางขันหมากใต้เป็นชุมชนต้นแบบแห่งการพัฒนา ไม่ว่าจะชาวบางขันหมากใต้ ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการในพื้นที่ทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงาน กศน.ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมจนชุมชนเข้มแข็ง เกิดแนวทางการพัฒนาร่วมกันกับชุมชน และได้รับการส่งเสริมอาชีพต่างๆจนมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดหลายประเภท หนุนให้ประชาชนสามารถเพิ่มรายได้ร่วมกับการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว
ซึ่งในอนาคตคงต้องเสริมกลยุทธ์ในการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบหลากหลาย และมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยไม่ทิ้งกลิ่นอายของภูมิปัญญาและวิถีชุมชน พร้อมรับมือกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความแปลกใหม่ ทันสมัยแต่ยังรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิม เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีมาตรฐานในวงกว้างมากขึ้นต่อไป” ดร.กนกวรรณฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน