ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความห่วงใยต่อประชาชน ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพร่างกายในช่วงฤดูฝน กำชับให้ กศน. บูรณาการร่วมกับสถานพยาบาลของรัฐ เช่น รพ.สต. หรือ อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้คำแนะนำ รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในการรักษาสุขภาพ และความปลอดภัยในช่วงหน้าฝน
ดร.กนกวรรณฯ กล่าวแสดงความห่วงใยในสุขภาพและการเดินทางของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ว่า “ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และในบางพื้นที่มีพายุ ฝนตกหนักเกือบทุกวัน อากาศที่เย็นลงและความชื้นที่เพิ่มขึ้นแม้จะช่วยคลายความร้อนลงได้มาก แต่ความชื้นที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองที่กลับเปิดโอกาสให้เชื้อโรคหลายๆ ชนิด เติบโตและแพร่กระจายได้มากขึ้นไปด้วย เพราะในฤดูฝนอากาศยังค่อนข้างเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น ฝนตก อบอ้าวทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน อาจเกิดอาการเจ็บป่วยในที่สุด โดยเฉพาะ 5 กลุ่มโรคติดต่อ ที่มักเกิดขึ้นในหน้าฝน ที่ต้องระวังเป็นพิเศษตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือน ได้แก่
- กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ บิด เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี
- กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
- กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี โรคมาลาเรีย
- กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู หรือแลปโตสไปโรซิส
- กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง
ตนจึงได้กำชับให้ กศน. ทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แนะนำแก่ประชาชนโดยประสานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงการดูแล ป้องกันภัยสำหรับตนเองและบุตรหลาน เมื่อเกิดอุทกภัยหรือน้ำท่วมขัง เช่น ภัยจากสัตว์เลื้อยคลาน และภัยจากกระแสไฟฟ้าที่อาจรั่วซึม เป็นต้น
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. แจ้งสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดให้พิจารณาและระมัดระวังเรื่องการสัญจรในหน้าฝนโดยเฉพาะการจัดทัศนศึกษา หรือศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษาและบุคลากร โดยก่อนการเดินทางผู้ขับขี่ต้องเตรียมคนขับและยานพาหนะให้พร้อมก่อนการเดินทาง โดยเน้นเตรียมความพร้อมสภาพร่างกายคนขับ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน หากต้องเดินทางไกลควรแวะพักเป็นระยะหรือมีคนขับสับเปลี่ยนกัน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดหรือทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ เป็นต้น และขอให้ตรวจสอบสภาพรถ ตรวจเช็คลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ตรวจระบบเบรกให้มีความสมบูรณ์สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงงดเดินทางในเวลากลางคืนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู ดังนั้นขอให้หน่วยงาน สถานศึกษาทุกแห่งให้ความสำคัญในความปลอดภัยและสุขภาพของนักเรียน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ที่อาจจะเกิดขึ้น” ดร.กนกวรรณฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน