วันนี้ (30 สิงหาคม 2562) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2562 โดยมี ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล มีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมกล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มุ่งมั่นทำงาน เร่งรัดการปราบปรามการค้ามนุษย์ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2562 (Trafficking in Persons Report : TIP Report) โดยจัดระดับให้ไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier2) เพราะเห็นว่าไทยเพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ จึงให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการค้ามนุษย์ จับกุม ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด คุ้มครองผู้เสียหาย ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
โอกาสนี้ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ แนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2562 ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของประเทศไทย จำนวน 13 ข้อ ได้แก่
- พัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการเชิงรุกในการดำเนินคดีและตัดสินบทลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
- สอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันกับการค้ามนุษย์ ตัดสินและลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยบทลงโทษที่เด็ดขาด
- สร้างความเชื่อมั่นว่าสถานคุ้มครองของรัฐและองค์กรภายนอกภาครัฐจะดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจอย่างเหมาะสม
- เพิ่มความสามารถของผู้เสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่จะเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ
- สนับสนุนให้ผู้พิพากษาคดีค้ามนุษย์ใช้แนวทางที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ
- เพิ่มการประสานความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมท้องถิ่นในศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ศูนย์แรกรับและสถานคุ้มครองรัฐบาล
- เพิ่มความพยายามให้นายจ้างจัดหาสำเนาเอกสารสัญญาจ้างงานแก่ลูกจ้างในภาษาที่ลูกจ้างเข้าใจ
- เพิ่มการจัดหาเงินชดเชยและสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
- ให้ผู้ที่อาจจะเป็นผู้เสียหายเข้าถึงบริการของภาครัฐมากขึ้น ก่อนจะได้รับการคัดแยกจากทีมสหวิชาชีพ
- จัดหาเจ้าหน้าที่ล่ามในศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และสถานคุ้มครองของรัฐอย่างต่อเนื่อง
- เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์
- ตรวจสอบการค้ามนุษย์ในสถานที่จ้างงานในภาคพื้นที่ชายแดน
- บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการจ่ายค่าแรง
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน และ เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย
ก่อนปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก สนับสนุน ตามแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาประจำปี 2562 ทั้ง 13 ข้อ ให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรมภายในปี 2562 โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในกระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย การสืบสวนขยายผล ตรวจสอบพยานหลักฐานต้องหนักแน่น เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พร้อมต้องสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสนับสนุนพนักงานสืบสวนสอบสวนในพื้นที่ต่างๆ ขณะเดียวกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งแก้ปัญหาสถานคุ้มครองผู้เสียหายที่มีไม่เพียงพอ และให้กระทรวงแรงงานพัฒนาประสิทธิภาพในการรับเรื่องร้องทุกข์คดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ด้วย โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพร้อมช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป……….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก