กราบพระใหญ่ ไหว้สมเด็จฯ โต สักการะ องค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม วัดอินทรวิหาร กทม.
เจ้าคุณน้อย” เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมสักการะ “ท้าวมหาพรหม” Landmark ศักดิ์สิทธิ์ ณ “บางขุนพรหม” และเป็นเทวศถาน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องใน กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระชนมายุ 67 พรรษา เพื่อเป็นสิริมงคล
พระโสภณธรรมวงศ์ (เจ้าคุณน้อย) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระอารามหลวงแขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. เปิดเผยถึงโครงการสร้างมงคลสถาน องค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา 2 เมษายน 2565 เพื่อประดิษฐานเป็น Landmark ของแขวงบางขุนพรหม
เพื่อเป็นที่สักการะระลึก ธรรมของพระอริยบุคคลทางคติพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสถานที่พฒันาการท่องเที่ยวของเขตพระนครและเป็นมงคลสถานของชาติ ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เขตพระนคร กทม.
สำหรับองค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม สร้างเป็นมงคลสถาน เพื่อสักการะระลึกธรรมตามรอยพระอริยบุคคล ทางคติพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสถานที่พัฒนาการท่องเที่ยวของเขตพระนคร และเป็นมงคลสถานของชาติ ณ วัดอินทรวิหาร
พระโสภณธรรมวงศ์ กล่าวอีกว่าประวัติการสร้าง “ท้าวมหาพรหม” เพื่อประดิษฐานเป็น Landmark บางขุนพรหม ด้วยวัดอินทรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ใน แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. คณะสงฆ์ และคณะกรรมการวัดอินทรวิหาร โดยมี พระโสภณธรรมวงศ์ (เจ้าคุณน้อย) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับ พุทธศาสนิกชน ทุกหมู่เหล่า มีนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมจัดโครงการสร้าง เทวะมงคลสถาน “องค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม” ปางประทานพร เพื่อ
1.) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรันราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระชนมายุ 67 พรรษา 2 เมษายน 2565
2.) เป็นที่สักการะ ระลึกธรรม และสถิตดำรงอริยบุคคลประกอบด้วยขั้น 1.พระโสดาบัน, 2.พระสกทาคา, 3.พระอนาคามี,4.พระอรหันต์ และ 5.พระโพธิญาณ ตามคติแนวทางของพระพุทธศาสนา จารึกในไตรภูมิพระร่วง
3.) เพื่อเป็นจุด Landmark ของที่ตั้ง ณ “บางขุนพรหม”
4.) เพื่อเป็นสถานที่พัฒนาการท่องเที่ยวของเขตพระนคร และมงคลสถานของชาติสืบต่อไป
สำหรับท้าวมหาพรหม หรือ มหาโสฬสพรหม เป็นประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนวัตถุที่ ทรงไว้ซึ่งพรหมลักษณะ ที่สำคัญ คือ ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบศรีวิชัย ทรงมี 5 พระพักตร์ หมายเป็นที่สถิตของพระอริยบคคล ทั้ง ๔ และ พระโพธิสัตว์ ทั้งปวง และทรงมีถึง 16 พระกร อันหมายถึง ทรงเป็นผู้ดูแลปกครองสวรรค์ ทั้ง 16 ชั้นฟ้า และมีพรอันประเสริฐ ทั้ง 16 ประการ ทรงประทับยืนประทานพร สูง 3.75 เมตร โดยประกอบด้วยความหมายโดยกิริยาท่วงท่าและรายละเอียดความหมายเชิงนัยยะ
ท้าวมหาพรหม หรือ พระมหาโสฬสพรหม ผู้เป็นบรมครูแห่งพรหมทั้งปวง ตำนานประวัติซึ่งมีการขาดหายไปจากการบันทึกกว่า 800 ปี จากบันทึกการสร้างครั้งสุดท้ายช่วงกลางรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราว พ.ศ.1688- พ.ศ.1761 มหาโสฬสพรหม คือ พระพรหม ผู้เป็นอธิบดีแห่งพรหม ทั้งปวง พระองค์ทรงไว้ซึ่งปัจเจกลักษณะเฉพาะ และโฉมภายนอกที่สำคัญผิดแผกแตกต่างไปจากพรหมในปัจจุบันสมัย คือ พระองค์ทรงมี 5 พระพักตร์”
โดยปรากฏในหลักฐานประติมากรรมเชิงศาสนวัตถุ ช่วงวรสมัยแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ล่วงเลยมาจนถึงราวสิ้นพุทธศตวรรษที่ 17 ของจักรวรรดิขแมร์หรืออาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งตรงกับช่วงกลางรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗7 เมื่อครั้งที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาคติความเชื่อ โดยเปลี่ยนมานับถือและทรงไว้ซึ่งศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ร่องรอยเดิมทางประวัติศาสตร์ของมหาโสฬสพรหมหรือคติของ “พรหม 5 หน้า” จึงเลือนลับหายไปพร้อมกาลเวลาที่ล่วงเลยมานับสหัสวรรษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ท้าวมหาพรหม หรือ โสฬสพรหม แปลว่า 16 ซึ่งเป็นศัพท์ที่มักปรากฏบ่อยครั้งบนจารึกในพระไตรปิฎก ในบริบทขยายความของศัพท์คำว่า “พรหม” อีกทั้งยังปรากฏในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อีก เช่น ไตรภูมิกถา (วรรณกรรมไตรภูมิพระร่วง) ทำให้เกิดความเข้าใจถึงที่มา, เรื่องราวหลักคำสอน และหลักธรรมสำคัญในเนื้อหาของวรรณกรรมได้อย่างลึกซึ้งขึ้น หมายถึง สภาวะแห่งพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น ซึ่งเป็นพรหมภูมิประเภทรูปพรหม หรือ รูปาวจรภูมิ อันหมายถึง ชั้นภูมิที่พรหมผู้วิเศษมีรูป หากแต่เป็นสภาวะของรูปทิพย์ที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น เป็นภพภูมิอันเป็นสถิตยวิมานและภูมิเสวยสุขของพรหม โดยจักอุบัติขึ้นเกิดในพรหมวิมาน ณ พรหมโลก อันเป็นแดนซึ่งมีแต่ความสุขอันเกิดจากฌานเท่านั้น โดยแบ่งชั้นตามอำนาจฌานที่ได้บรรลุแล้ว อีกทั้งปราศจากความสุขที่เนื่องด้วยกามราคะ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับชั้นฉกามาพจรสวรรค์ อันเป็นสุคติภพที่ยังคงเกี่ยวข้องกับกามภูมิ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ชั้น
ฉะนั้นแล้ว ความเกี่ยวข้องโดยลึกซึ้งกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นในทุกกัปหลังจากสิ้นพุทธันดรหนึ่ง เพราะผู้ที่น้อมกราบอาราธนาและอัญเชิญพระมหาโพธิสัตว์ที่พระบารมีเต็มแล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาเสวยพระชาติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในทุกภัทรกัป ก็คือ ท้าวมหาพรหม หรือ มหาโสฬสพรหม นั่นเอง
พระโสภณธรรมวงศ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางธรรม กล่าวได้ว่าพระพักตร์ ทั้ง 5 นั้น เปรี่ยมด้วยคุณธรรมของพระอริยบุคคล ตามคติที่ว่า พระอริยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ทางพุทธศาสนาถือว่าความเป็นพระอริยบุคคลนั้น กำหนดได้ด้วยการละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์) ไว้ในภพ ใครละได้น้อยก็เป็นอริยบุคคลชั้นต่ำ เมื่อละได้มากก็เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงขึ้น ใครละได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ สังโยชน์มี 10 อย่าง เทียบตามส่วนที่พระอริยบุคคล ละได้เป็นลำดับคือ
พระพักตร์ ที่ 1 สถิตพระโสดาบัน เป็นผู้ละสิ่ง ดังต่อไปนี้ 1.สักกายทิฏฐิ – ความเห็นว่าร่างกายเป็นของตน 2.วิจิกิจฉา – ความสงสัยว่าพระวัตนตรัยดีจริงหรือ 3.ศีลพตปรามาส – การเชื่อพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ แล้วจะบรรลุนิพพาน คือพระอรหันต์
พระพักตร์ ที่ 2 สถิตพระสกทาคามี ละขั้นพระโสดาบัน แต่จิตคลายจาก ราคะ โทสะ และโมหะ มากขึ้น เมื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามี จะเกิดอีกครั้งเดียว
พระพักตร์ ที่ 3 สถิตพระอนาคามี ละขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และรวมอีก 2 คือ กามราคะ – ความติดใจในกามารมณ์ม และปฏิฆะ – ความขัดเคืองใจ เมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามี จะเลิกครองเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ ตายแล้วจะไปเกิดในพรหมโลก
พระพักตร์ ที่ 4. สถิตพระอรหันต์ ละขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคา พระอนาคามี และรวมอีก 5 คือ
รูปราคะ – ความติดใจในรูป เช่นชอบของสวยงาม, อรูปราคะ – ติดใจในของไม่มีรูป เช่นความสรรเสริญ
มานะ – ความยึดถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นติดในสมณศักดิ์, อุทธัจจะ – ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ไม่สงบใจ
อวิชชา – ความไม่รู้อริยสัจสี่, เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ หากสิ้นชีวิตแล้วจะไม่เกิดอีก
พระพักตร์ ที่ 5 สถิตพระโพธิญาณ หรือ พระโพธิสัตว์ คือพระอริยบุคคล ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยาก และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตที่บำเพ็ญบารมีต่อ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
นอกจากจะมี องค์ท้าวมหาพรหม ผู้เป็นมหาเทพแล้ว มงคลสถานดังกล่าว ยังมีท้าวจตุโลกบาล เทพผู้คุ้มครองจากโรคาภัยทั้งปวงและปัดเป่าอุบัติเหตุจากการเดินทาง คุ้มครองมนุษย์โลกทั้ง 4 ทิศ ไม่ว่าจะเหนือ ใต้ ตะวันออก หรือตะวันตก ท้าวจตุโลกบาล (จตุ หมายถึง 4 โลกบาล หมายถึงโลก) คือการรวมกันของเทพ 4 พระองค์ ประกอบไปด้วย ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวกุเวร) (ทิศเหนือ) ท้าววิรุฬหก (ทิศใต้) ท้าวธตรฐ (ทิศตะวันออก) และท้าววิรูปักข์ (ทิศตะวันตก) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือ ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวกุเวร) เทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศเหนือมีรูปลักษณ์เป็นยักษ์คอยปกปักรักษาพุทธศาสนาและมนุษยชาติจากสิ่งชั่วร้าย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้คุมนักโทษมักเคารพบูชาด้วยการใส่สร้อยท้าวเวสสุวัณไว้เป็นเครื่องรางของขลังเพราะเชื่อว่าพระองค์จะคอยกำจัดวิญญาณของนักโทษที่ล่วงลับและมีจิตใจอาฆาตแค้นได้ นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งผู้ปกป้องคลังสมบัติของเทวโลกรวมถึงช่วยเหลือเทพเทวดาองค์อื่นในการทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ท้าวเวสสุวัณได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเทพที่ทรงอำนาจที่สุดบนสวรรค์ ส่วนเทพอีก 3 องค์ก็ดูเเลความสงบสุขของทั้ง 3 ทิศที่เหลือต่อไป
ท้าวจตุโลกบาลยังมีความรับผิดชอบมากกว่าที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งดูเเลมนุษยชาติรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเทพบนสวรรค์ พระองค์รักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป ผู้สักการะมักมาขอพรจากท้าวจตุโลกบาลในด้านความสำเร็จสมปรารถนา
ขอเชิญประชาชนและพุทธศาสนิกชนทุกท่านทุกคน เข้ามาขอพร และสามารถร่วมบุญได้ที่วัดอินทรวิหาร โดยตรง หรือโอนปัจจัยเพื่อร่วมสร้าง “ท้าวมหาพรหม” ได้ที่ ธนาคารกรุงไทย 0700287523 ชื่อบัญชี ท้าวมหาพรหม วัดอินทรวิหาร หากต้องการรับใบอนุโมทนาหรือ ติดต่อผ่าน Facebook วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวงได้ทุกวัน
ทั้งนี้ทางวัดอินทรวิหาร ได้ จดสิทธิบัตรกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทงานศิลปกรรม ประเภทลักษณะงาน ประติมากรรม เอาไว้แล้วเพราะเป็นงานซึ่งเป็นชิ้นแรกและชิ้นเดียวในประเทศไทย