ข่าวใหม่อัพเดท » ยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว ด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)

ยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว ด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)

4 พฤศจิกายน 2022
0

ยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว ด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)

เมื่อเร็วๆนี้ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ “ไบโอเทค” (สวทช.) ลงพื้นที่จังหวัดลำปางเพื่อติดตามการสนับสนุนโครงการ “ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road)” ซึ่ง “ไบโอเทค” ดำเนินการร่วมกับพันธมิตร โดยในปี 2565 มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง จ.ลำปาง,จ.เชียงราย,จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม จาก “ผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว” เป็น “ผู้ผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว” พัฒนาชุมชนนวัตกรรมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่สู่การยกระดับผลผลิตสินค้าเกษตร

น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนา BCG สาขาเกษตรนั้น มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนในลักษณะของการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ซึ่งในเบื้องต้นได้คัดเลือก 5 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่จ.ราชบุรี, จ.ลำปาง, จ.ขอนแก่น, จ.จันทบุรี, จ.พัทลุง และการเชื่อมต่ออุปสงค์อุปทานในลักษณะของกลุ่มสินค้า (Community based) ที่มีความสำคัญในจังหวัดนำร่องนั้นๆ โดยให้ความสำคัญในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ความร่วมมือ 4P (Public-Private-People-Professional partnership) ระหว่างกลุ่มเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่นำร่องลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตสินค้า และของเหลือทิ้งจากการเกษตร ตลอดจนเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป การบริการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ “ไบโอเทค” (สวทช.) กล่าวว่า ทาง “ไบโอเทค” (สวทช.) และ เลขานุการคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ได้ ดำเนินการโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทาง สายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)” ซึ่งเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อน BCG ของกลุ่มสินค้าข้าวเหนียว โดยเป็นการผนึกกำลังระหว่าง (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด หน่วยงานของกระทรวงเกษตร์และสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อผลักดันการใช้ BCG Model ขับเคลื่อนชุมชนที่มีฐานการผลิตข้าวเหนียว ให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร โดยบูรณาการด้านการผลิตพืช การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในชุมชน โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรม ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับส่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบบูรณาการที่อิงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร กล่าวว่า ในปี 2565 โครงการ BCG-Naga Belt Road มีเป้าหมายในการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง,จ.เชียงราย,จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม โดยมีแผนการดำเนินงาน 4 แผนงาน ประกอบด้วย

  1. การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมโดยใช้พื้นฐานของความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเหนียว และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว
  2. การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตข้าวเหนียวและการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
  3. การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว และ
  4. การพัฒนาระบบสนับสนุน Enabler System เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG model@วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งความหลากหลายพันธุ์ข้าวเหนียว

การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมโดยใช้พื้นฐานความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเหนียว เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว มี ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา เป็นผู้ประสานงานโครงการ ระบบบริหารจัดการติดตาม การพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแหนแดงและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในแต่ละจังหวัดนำร่องแบ่งกลุ่มเกษตรกร 16 กลุ่มๆ ละ 50 คน ต่อจังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 3,200 คน ใน 4 จังหวัด มีการพัฒนานักวิจัยชุมชน 3 ระดับ ได้แก่ นักวิจัยประสาน นักวิจัยชุมชน นักวิจัยเกษตรกรชุมชน มีเป็นขบวนการเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้อยู่ในชุมน ในโครงการมีการคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วม จ.นครพนม 11 อำเภอ,จ.อุดรธานี 7 อำเภอ,จ.ลำปาง 9 อำเภอ และ จ.เชียงราย 10 อำเภอ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด ผลิตข้าวเหนียวพื้นที่รวม 24,152 ไร่ เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์ จำนวน 724,586 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 63,114,689 บาท

“กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ เป็นตัวอย่าง สามารถยกระดับให้เป็นชุมชนมาตรฐานการผลิตอินทรีย์ที่การผลิตสินค้าเกษตรแบบอินทรีย์แบบมาตรฐานการเกษตรนานาชาติ พื้นที่ผลิตข้าว 4,634.7 ไร่ มีราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด 1-2 บาทต่อกิโลกรัม และมีการผลิตแหนแดงในพื้นที่นำร่องในนาข้าว สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 419.85 ตันคาร์บอน ราคาคาร์บอนเครดิต 398,223 บาท พลังงานสะอาด สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 9.75 ตันคาร์บอน ราคาคาร์บอนเครดิต 9,251 บาท เป็นต้น” @ต่อยอดนวัตกรรม Circular economy สู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ

ดร.ธีรยุทธฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า ของการผลิตข้าวเหนียวและการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร นั้นมี ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปางเป็นผู้ประสานงาน เน้นการเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านการแปรรูปจากข้าวเหนียว ร่วมกับ ผู้ประกอบการ นักศึกษา และที่ปรึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย 173 ราย และการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยการทำแผ่นไม้ที่ผลิตจากฟางข้าว และ พลาสติก (Particle Board) เป็นชิ้นขนาดเล็กๆ สู่งานสร้างสรรค์ทางหัตถศิลป์ พัฒนาการผลิตภาชนะจากฟางข้าว (Biomaterial) การพัฒนาการผลิตเห็ดจากฟางข้าว ประยุกต์ใช้ Geopolymer ในงานหัตถกรรมโดยการใช้แกลบดำหรือเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาดินปลูกคุณภาพสูงจากเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล หรือการพัฒนาดินคุณภาพสูงจากแหนแดง รวมทั้งการประยุกต์สีย้อมธรรมชาติจากทุ่งนาสู่งานหัตถกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการ Reskill-upskill ทรัพยากรมนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตข้าวเหนียวสู่การเรียนรู้ตลอดชีพ ผู้เข้าอบรม มีกลุ่มผู้ประกอบการด้านปัจจัยทางการเกษตร 80 ราย กลุ่มผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร 131 ราย กลุ่มผู้ให้บริการโดรนทางการเกษตร 115 ราย และ กลุ่มผู้ประกอบการโรงสี 40 ราย โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และ ธ.ก.ส. ด้านนวัตกรรมทางอาหารที่แปรรูปจากข้าวเหนียวและพัฒนานวัตกรด้วยการอบรม Creative Design Thinking และ Workshop ร่วมกับผู้ประกอบการ นักศึกษา และนักนวัตกรรมทางอาหาร ออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวเหนียว 40 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การสร้างความตระหนักด้าน carbon credit และการสร้าง ecosystem ในการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำ

@ไลน์บอทโรคข้าว ติดตามโรคแบบฉบับเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาระบบสนับสนุน Enabler System เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG model มี ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ประสานงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การบันทึกข้อมูลการระบาดของโรคในแปลงเกษตรผ่านบริการวินิจฉัยโรคข้าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ LineBoT โรคข้าว ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเว็บแอปสำหรับจัดเก็บและติดตามข้อมูลเพื่อสนับสนุนการยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในโครงการ BCG Naga Belt Road โดยระบบดังกล่าวมีฐานข้อมูลของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายและข้อมูลสมทบต่างๆ ประกอบด้วย ข้อมูล พาสปอร์ตเกษตรกร ข้อมูลจากแบบสอบ ถามจากโครงการ ข้อมูลพิกัดแปลงนาของเกษตรกร ข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยง และข้อมูลสภาพอากาศ ทั้งนี้รศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยศึกษาบริบทการทำนาข้าวเหนียวและห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่จ.เชียงราย,จ.ลำปาง,จ.อุดรธานี และจ.นครพนม และศึกษาวิธีการต่างๆ ในการวัดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพื่อเข้าใจระดับฐานทุนชุมชน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำเข้ากับฐานทุน และระหว่างฐานทุนกับบริบทแวดล้อม เพื่อใช้ในการสำรวจรายครัวเรือน สู่การพัฒนาเชิงระบบของนโยบายของ BCG ภาคการเกษตร

@ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชูท่องเที่ยวชุมชนบนวัฒนธรรมข้าวเหนียว
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว มี ดร.อรรจนา ด้วงแพง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ประสานงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและการพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ของจังหวัดนำร่อง โดยในจ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.อุดรธานี ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.นครพนม ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มีการพัฒนาสู่คลังความรู้ของชุมชน ในด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว หมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยววัฒนธรรมข้าวเหนียว ส่งเสริมตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

“การดำเนินงานโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทาง สายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) เป็น Quick Win ของ BCG สาขาเกษตร ที่ถือเป็นแบบอย่างของการทำงานความร่วมมือแบบ 4P (Public-Private-People-Professional partnership) อย่างแท้จริง ขับเคลื่อน BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ตามนโยบายของรัฐบาล” ดร.ธีรยุทธฯ กล่าวทิ้งท้าย


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!