ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ส่งผลให้แม่น้ำยมตอนบนบริเวณจังหวัดแพร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณจังหวัดสุโขทัยในลำดับต่อไป กรมชลประทาน เตรียมใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเมืองสุโขทัย
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ“โพดุล” ส่งผลให้มีฝนตกหนักและตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนบริเวณจังหวัดแพร่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ ไม่เกิน 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม.) ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 – 12.00 น. วันนี้(2 ก.ย. 62) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำสูงสุดไม่เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที เวลาประมาณตี 2 – ตี 3 คืนนี้(3 ก.ย. 62)
กรมชลประทาน ได้วางแผนมาตรการต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่กำลังไหลหลากมาจาก จ.แพร่ ลงสู่ จ.สุโขทัย ด้วยการลดระดับน้ำบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำได้มากขึ้น การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในคลองยม-น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า การพร่องน้ำในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เพื่อรองรับการตัดยอดน้ำในแม่น้ำยม ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำกว่า 382,000 ไร่ รับน้ำได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะรองรับน้ำจากแม่น้ำยม ช่วยตัดยอดปริมาณน้ำไหลผ่านเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลหนัก เครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ ได้แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้กับทางจังหวัดสุโขทัยทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม เมื่อปริมาณน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์(ปตร.)จะทำการหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้า ปตร.และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ในอัตรา 250 – 350 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะผันน้ำไปลงแม่น่านผ่าน ปตร.ยม-น่าน ในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที และผันลงแม่น้ำยมสายเก่าผ่าน ปตร.ยมเก่า อีกประมาณ 150-250 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ จะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่าน ปตร.หาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650 – 710 ลบ.ม./วินาที จากนั้น จะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ในอัตราสูงสุดรวมไม่เกิน 160 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะตัดเข้าคลองตาดินและคลองบางคลองไปเก็บกักไว้ในทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่างๆที่ยังสามารถรับน้ำได้ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย(สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย
นายพงศ์เทพ สาคร รายงานจากจังหวัดสุโขทัย