ข่าวใหม่อัพเดท » DSI พบหลักฐานสำคัญ เชื่อมโยงคดีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก–บางกลอย

DSI พบหลักฐานสำคัญ เชื่อมโยงคดีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก–บางกลอย

3 กันยายน 2019
0

          วันนี้ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2562 เวลา 13.00 น. : พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์,พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ,พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค,พันตำรวจโท เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรวีย์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์,ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และพันตำรวจตรี นิรุท อินธิศร ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันแถลงความคืบหน้าผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

          ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

          พฤติการณ์กล่าวคือ นายพอละจีฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัว นายพอละจีฯ พร้อมรถจักรยานยนต์และนำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจีฯ และญาติ เชื่อว่า นายพอละจีฯ หายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ​

          ภายหลังการรับไว้ในกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน ได้มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ​ และมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Strong Collaboration) ประกอบไปด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ร่วมกันสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องมาโดยตลอด

          กระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน สามารถตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก จำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้น จำนวน 2 เส้น ถ่านไม้ จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน

          จากนั้น ได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า “วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200 -300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี่ รักจงเจริญ”

          เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene) พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี่ รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” ส่วนถังน้ำมัน เหล็กเส้น ถ่านไม้ และเศษฝาถังน้ำมัน ได้ส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการผุกร่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับ นักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรวจหาพยานหลักฐาน พบชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

          ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่า พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน​ และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และคดีเป็นที่สนใจของประชาชน สื่อมวลชนในประเทศและระหว่างประเทศ

          กรมสอบสวน​คดี​พิเศษ​ จึงแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนให้ทราบ ซึ่งหลังจากนี้ จะเร่งรัดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มองค์กรที่กระทำความผิดโดยเร็ว หากผลการสอบสวนมีความคืบหน้าจะแถลงให้ทราบโดยทันที ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ​ จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

CR.คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!